กลุ่มทิสโก้ เผยครึ่งปีแรก 67 กำไรสุทธิ 3,482 ล้าน ลดลง 4.5% ผลตั้งสำรองฯ เพิ่ม - Forbes Thailand

กลุ่มทิสโก้ เผยครึ่งปีแรก 67 กำไรสุทธิ 3,482 ล้าน ลดลง 4.5% ผลตั้งสำรองฯ เพิ่ม

กลุ่มทิสโก้ เปิดผลประกอบการครึ่งแรกปี 2567 มีกำไรสุทธิ 3,482 ล้านบาท ลดลง 4.5%YoY ผลจากการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นรับความเสี่ยงเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น เงินให้สินเชื่อลดลง 0.6% จากสิ้นปีก่อนเพราะการชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ


    นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ หรือ TISCO เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 3,482 ล้านบาท ลดลง 4.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะงวดไตรมาส 2/2567 มีกำไรสุทธิ 1,749 ล้านบาท ลดลง 5.7% จากไตรมาส 2 ของปีก่อนหน้า สาเหตุหลักจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านคุณภาพสินทรัพย์ ขณะที่ต้นทุนทางการเงินปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

    แต่ยังได้แรงหนุนจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อจำนำทะเบียนผ่านการขยายสาขาสมหวัง เงินสั่งได้ ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากกำไรจากเงินลงทุน ขณะที่ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักชะลอตัวลงตามภาวะตลาดทุนที่ผันผวน และธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ซบเซา

    ในระยะข้างหน้า กลุ่มทิสโก้ ยังคงยุทธศาสตร์ “Sustainable Focus” มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพบนพื้นฐานการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และเพิ่มความระมัดระวังรอบคอบในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการติดตามดูแลลูกค้าในกลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิด

ผลประกอบการสำหรับงวดครึ่งปีแรกของปี 2567

    - รายได้รวมจากการดำเนินงานอยู่ที่ 9,640.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8%YoY
        1) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 6,782 ล้านบาท ขยายตัว 3.1% ตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ
        2) รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2857.17 ล้านบาท ขยายตัว 5.5% จากกำไรจากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจ

    - ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 4.88%

    - กำไรสุทธิมีจำนวน 3,482 ล้านบาท ลดลง 4.5% จากครึ่งปีแรกของปี 2566 เนื่องมาจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่เพิ่มขึ้น

    - บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2567 อยู่ที่ 16.6%

    - สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการขยายสินเชื่อไปในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูง
        1) NPLs อยู่ที่ 5,696.58 เพิ่มขึ้น 6.7% จากไตรมาสก่อนหน้า
        2) NPLs คิดเป็น 2.4% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้า 

    - โดยมีระดับค่าเผื่อสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 162.7%

    เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 ที่ 233,448 ล้านบาท ลดลง 0.6% จากสิ้นปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัวลง ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อ SME และสินเชื่อจำนำทะเบียนยังคงขยายตัว แต่เติบโตในอัตราที่ช้าลง โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทเพิ่มความระมัดระวังและรอบคอบในการปล่อยสินเชื่อใหม่ท่ามกลางสภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

    ธนาคารทิสโก้ยังคงมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 20.6% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.6% และ 2.0% ตามลำดับ



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ​‘เมืองไทย แคปปิตอล’ ตั้งเป้าคุมหนี้เสีย 3.20% แม้หนี้ครัวเรือนไทยยังสูง คาดสิ้นปี 67 สินเชื่อแตะ 1.7 แสนล้าน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine