หนึ่งในรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยคือ ธุรกิจ SME ที่เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่พร้อมเติบโต ขณะเดียวกันยังมีการจ้างงานกว่า 30% ของประเทศ แต่ช่วงที่ผ่านมากลับเจอหลายอุปสรรคทั้ง COVID-19 ที่ทำให้กำลังซื้อลด รายได้หดหาย หลายคนมีปัญหาสภาพคล่อง บางรายเป็นหนี้เสีย ส่งผลต่อเนื่องให้กลุ่ม SME ขอสินเชื่อยากไปด้วย จนเกิดสถานการณ์ที่สินเชื่อ SME ในภาพรวมหดตัวมาหลายปี อย่างปี 67 ที่ผ่านมาหดตัว 5%
แต่ท่ามกลางตลาดสินเชื่อ SME ที่หดตัว และหลายแบงก์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ กลับกลายเป็นโอกาสของแบงก์เล็กอย่าง ธนาคารไทยเครดิต ที่เพิ่งรุกตลาดและเน้นกลุ่มลูกค้า SME โดยเฉพาะ
เร่งขยายสินเชื่อ Micro SME แต่เน้นคุมเสี่ยง NPL ไม่เกิน 4.5%
รอยย์ ออกุสตินัส กุนารา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต หรือ CREDIT กล่าวว่า เราเชื่อว่า SME ไทยมีศักยภาพที่จะเติบโต แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นกลุ่มที่เข้าถึงบริการสินเชื่อได้ยาก ขณะเดียวกัน SME ส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจครอบครัว ที่ข้อมูลทางการเงินอาจไม่ชัดเจน ดังนั้นทางธนาคารฯ จึงหันมาพัฒนาโปรดักส์ที่ตอบโจทย์ SME โดยเฉพาะกลุ่ม Micro SME ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 ได้เปิดตัวสินเชื่อ SME กล้าให้ โดย 6 ปีที่ผ่านมามียอดสินเชื่อใหม่รวมกว่า 200,000 ล้านบาท
หลังจาก COVID-19 ที่ผ่านมา สินเชื่อ SME กล้าให้ กลายเป็นสัดส่วนหลักของพอร์ตสินเชื่อของธนาคารฯ ซึ่งยังมีจุดเด่นคือ อัตราหนี้เสีย หรือ NPL อยู่ที่ 3.7% ถือว่าต่ำกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมที่ 7.01% ขณะเดียวกันนี้ ยังทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดในสินเชื่อ Micro SME (สินเชื่อไม่เกิน 30 ล้านบาท) ของไทยเครดิตเพิ่มขึ้นเป็น 8% จากปี 2563 ที่อยู่ราว 2%
ส่วนเป้าหมายของปี 2568 นี้ คาดว่าธุรกิจของธนาคารจะเติบโตมากกว่า 10% โดยสินเชื่อใหม่ของธนาคารจะอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อ SME ที่ 50,000 ล้านบาท (สินเชื่อ SME กล้าให้ราว 35,000 - 45,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SME กล้าสู้ ที่ 10,000 - 15,000 ล้านบาท)
ขณะที่ด้านการบริหารความเสี่ยง คาดว่า ปี 2568 จะคุมอัตราหนี้เสีย หรือ NPL ไว้ที่ไม่เกิน 4.5% จากปี 2567 ที่อยู่ราว 4.4% ในไตรมาส 1/68 อาจเห็นหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีจะปรับตัวลดลงตามคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกับปี 2567 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ได้แก่ สินเชื่อไม่มีหลักประกัน และ Nano Finance ซึ่งปี 2567 มี NPL ราว 10% และเชื่อว่าปีนี้หนี้เสียจะยังสูงกว่า 6-7%
เปิดตัว ‘สินเชื่อ SME กล้าสุ้’ มั่นใจยืดหยุ่นขึ้น
นายนาธัส กฤตวรานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริหารธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ธนาคารไทยเครดิต กล่าวว่า ท่ามกลางสินเชื่อ SME ในภาพรวมตลาดปี 2567 ติดลบ 5% แต่ของไทยเครดิต โดยเฉพาะสินเชื่อกลุ่ม Micro SME เติบโตอยู่ที่ 12.8%YoY แสดงให้เห็นถึงการรุกตลาดอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด จึงนำข้อมูลของสินเชื่อ SME รวมถึงโมเดลการพิจารณาสินเชื่อแบบ Risk-based Pricing มาใช้เป็นครั้งแรกสำหรับกลุ่มลูกค้า Micro SME ซึ่งเชื่อว่าจะผ่อนปรนให้ธนาคารฯ สามารถพิจารณาสินเชื่อให้แก่ SME ได้ยืดหยุ่น และดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ทางธนาคารเปิดตัว ‘สินเชื่อ SME กล้าสู้’ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 6.95% ต่อปี โดยต้องใช้เงินฝากเป็นหลักประกัน ซึ่งจะได้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 5 เท่าของหลักประกัน และไม่เกิน 10 ล้านบาท
“เราเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบภายใต้สภาวะคับขันทางเศรษฐกิจ และสามารถก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้เพื่อการเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นายนาธัส กล่าว
นอกจากนี้ ทางธนาคารฯ ยังขยายเพดานวงเงินสูงสุดสินเชื่อ SME กล้าให้ จากเดิม 35 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท (ในชื่อ สินเชื่อ SME กล้าให้เต็ม MAX) เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี โดยให้วงเงินไม่เกิน 2 เท่าของมูลค่าประเมินหลักประกัน (เช่น ที่ดินห้องชุดพักอาศัย หรือเงินฝาก) ระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 12 ปี โดยผู้กู้ต้องมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหวขึ้น ทางธนาคารฯ ออก 2 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น พักดอกเบี้ย, สินเชื่อซ่อมแซม ซึ่งลูกค้าสามารถสอบถามทางธนาคารได้ทันที และเชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนธุรกิจ SME ได้อย่างต่อเนื่อง
ภาพ: ธนาคารไทยเครดิต
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : วิจัยกสิกรฯ คาดแผ่นดินไหวปี 68 กระทบเศรษฐกิจไทยลบ 0.06% เสี่ยงโตต่ำ 2.4% จากความเสียหายเกิน 20,000 ล้าน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine