ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-15ธ.ค.66) พลิกจากต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 1,354.73 จุด มาปิดที่ 1,391.03 จุด มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 43,844.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.45% จากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปี 2567 ขณะที่สัปดาห์นี้ต้องลุ้นปัจจัยในประเทศเกื้อหนุนทั้งนักท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายของรัฐบาล
สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยผันผวนสูง หลังจากลงไปต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 1,354.73 จุดในช่วงกลางสัปดาห์ แต่หลังจากมติธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยที่ 5.25-5.5% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธันวาคม 2566 และตลาดจับสัญญาณการแถลงของ Jerome Powell ประธานเฟด ที่ส่งสัญญาณว่าเฟดจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้งในปี 2567 ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น
โดยดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 500 จุด ปิดเหนือระดับ 37,000 จุด ทำสถิติสูงสุดใหม่ ขณะที่หุ้นไทยกลับมาปิดที่ระดับ 1,391.03 จุด มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 43,844.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.45% โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 5,363 ล้านบาท
สัปดาห์ถัดไป (18-22 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,370 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,425 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66
กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี พัฒนสิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเริ่มมีภาพของการฟื้นตัว หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชัดเจนปรับลดดอกเบี้ยในปี 2567 อีกทั้งมีแรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีสัญญาณของการฟื้นตัว รวมถึงธนาคารกลางของจีนมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาประมาณ 8 แสนล้านหยวน ซึ่งเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องรายเดือนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
“แนวโน้มในสัปดาห์หน้าคาดว่าตลาดหุ้นยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว โดยติดตามการประกาศรายชื่อหุ้นที่เข้า-ออกจากดัชนี SET50 และ SET100 แต่เข้าสู่ช่วงใกล้วันหยุดคริสต์มาส ทำให้ภาพของการซื้อขายโดยรวมน่าจะเบาบางลง โดยมองกรอบการลงทุนแนวต้านที่ 1,420-1,430 จุด และแนวรับที่ 1,360 จุด” กรภัทรกล่าว
อย่างไรก็ตาม ดัชนีหุ้นไทยยังเผชิญกับปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งเรื่อง Naked Short Sell และโปรแกรมเทรดความถี่สูง หรือ High Frequency Trading หรือ HFT ที่ยังต้องติดตามการแก้ปัญหาของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป
ลุ้นปัจจัยในประเทศ
แม้ปัจจัยภายนอกประเทศจะมีสัญญาณที่ดี แต่ในประเทศยังต้องรอลุ้นหลายปัจจัย โดย บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 2.5% จาก 3.0% จากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มองว่าจะเข้ามาเพียง 27.6 ล้านคนในปี 2566 และการส่งออกสินค้าจะหดตัว -1.3% น้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ -2.5%
นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศยังคงได้รับผลจากการที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงภาคการผลิตที่ยังชะลอต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวหลายเดือนติดต่อกัน และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของ ธปท. และศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธปท. ได้สิ้นสุดวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้วที่ 2.5%
สำหรับปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.1% จากปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐบาล ทั้งทางการลงทุนและการบริโกค และการส่งออกสินค้าที่คาดว่าขยายตัว 2% และจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะอยู่ที่ 30.6 ล้านคน และหากรวมกับมาตรการ Digital Wallet คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.6% ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 0.8% จากราคาน้ำมันที่มองว่าปีหน้าจะมีค่าเฉลี่ยที่ 72.5 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล
ขณะที่ วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวที่ 3.4% จาก 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าปี 2567 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 35.6 ล้านคน 2.การบริโภคภาคเอกชนเติบโตต่อเนื่อง การมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 3.การใช้จ่ายภาครัฐจะมีผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาสสองของปี 2567 เป็นต้นไป และ 4.การลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาขยายตัวจากภาคบริการและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะมีแนวโน้มปรับดีขึ้นแต่อัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน โดย IMF คาดว่า GDP ของกลุ่มประเทศอาเซียน-5 จะเติบโตที่ 4.5% ในปี 2567 เร่งขึ้นเล็กน้อยจาก 4.2% ในปี 2566
สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่อาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับเพิ่ม ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น ปัญหาประชากรสูงวัย การขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม
ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศที่อาจสร้างความเสี่ยง คือผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศที่สูงขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้าง
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ยูโอบีขึ้นอันดับ 3 หลังซื้อกิจการซิตี้ เป้าหมายบัตรเครดิต 2.4 ล้านราย
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine