ย้อนอดีตมองอนาคต! 27 ปี หลังไทยถูกโจมตีค่าเงินจนต้อง ‘ลอยตัวค่าเงินบาท’ จุดเริ่มของวิกฤติต้มยำกุ้ง - Forbes Thailand

ย้อนอดีตมองอนาคต! 27 ปี หลังไทยถูกโจมตีค่าเงินจนต้อง ‘ลอยตัวค่าเงินบาท’ จุดเริ่มของวิกฤติต้มยำกุ้ง

หลายคนอาจจำชื่อวิกฤตครั้งใหญ่ของไทยอย่าง วิกฤตต้มยำกุ้ง ที่เกิดขึ้นนับจากปี 2540 ซึ่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญมาจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 จนถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 27 ปี ประเทศไทยเรียนรู้จากบทเรียนครั้งเก่า และมีโจทย์ความท้าทายใหม่ในด้านใดบ้าง


ย้อนรอยปี 2540 เมื่อไทยถูกโจมตีค่าเงินบาท จนต้องเปลี่ยนระบบแลกเงิน

    ย้อนกลับไปในช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 จะพบว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีปัญหาหลายด้าน ทั้งปัญหาหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งช่วงปลายปี 2540 หนี้ต่างประเทศของไทยปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 109,276 ล้านเหรียญ การลงทุนที่เกินตัวและเกิดฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากการเก็งกำไรในตลาด ฝั่งสถาบันการเงินขาดประสิทธิภาพ เช่น มีการประเมินความเสี่ยงที่ไม่เพียงพอ หละหลวมในการให้สินเชื่อ นอกจากนี้ไทยยังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังเป็นเวลานาน ในช่วงปี 2539 - 2540

    ในช่วงเวลานั้นไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบระบบตะกร้าเงิน (Basket of currencies) ที่ผูกค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์ฯ (การกำหนดค่าเงินบาทที่ราว 25 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้กับตะกร้าเงิน กลายเป็นเป้าหมายและถูกโจมตีค่าเงิน ส่งผลให้ทางการไทยจำเป็นต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท โดยในเวลานั้น เงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิลดลงเหลือเพียง 2,850 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ มิ.ย. 2540 (ปลายปี 2539 มีอยู่ราว 38,700 ล้านเหรียญสหรัฐ)

    นำสู่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ที่ไทยประกาศเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบระบบตะกร้าเงิน (Basket of currencies) มาเป็นการลอยตัวค่าเงินบาทหรือชื่อเต็มว่า ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float Exchange Rate Regime) ที่เงินบาทจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

    หลังจากนั้นไทยได้ก้าวเข้าสู่ วิกฤตต้มยำกุ้ง อย่างเต็มตัว เพราะหนี้ต่างประเทศที่เคยมีมูลค่าทะยานขึ้นจากการลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งกลายเป็นระลอกคลื่นกระทบกับอีกหลายด้าน ซึ่งประเทศไทยต้องรับมือกับความเสียหายในระดับเศรษฐกิจ และในระดับประชาชน ซึ่งทางการได้ออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและยกระดับสถาบันการเงินขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อไทยเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งใหม่ เทียบกับครั้งปี 2540 แตกต่างกันแค่ไหน

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากเปรียบเทียบแล้ววิกฤตเศรษฐกิจการเงินในปี 2540 ที่มีต้นตอมาจากความไม่สมดุลภายในและการผูกค่าเงิน แต่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัวจากผลกระทบช่วง COVID-19 ในมิติเศรษฐกิจ สถานการณ์เศรษฐกิจ และมาตรวัดเสถียรภาพต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน ดีขึ้นกว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินปี 2540

    ทั้งนี้ มีจุดที่แตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตปี 2540 คือ ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันเข้มแข็งกว่ามาก โดยระดับเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ 21 มิ.ย. 2567 อยู่ที่ประมาณ 253,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น การนำเข้า 3 เดือน และหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรได้เต็มจำนวน


    ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.6% ต่อ GDP ณ สิ้นปี 2566 และทางการมีมาตรการดูแลการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสะท้อนว่า มีการเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤตเพื่อป้องกันการเดินซ้ำรอยเดิมของระบบเศรษฐกิจและการเงินไทย
ขณะที่สถานการณ์ในปี 2567 แม้ยังคงเห็นการไหลออกของกระแสเงินลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย แต่ค่าความผันผวนของเงินบาทในปี 2567 ก็มีแนวโน้มชะลอลง จากที่อยู่สูงถึง 9.0% ในปี 2566 มาอยู่ที่ 6.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 และต่ำกว่าค่าความผันผวนในช่วง 1 ปีหลังลอยตัวค่าเงินบาทซึ่งอยู่ที่ 34.5% ค่อนข้างมาก

    อย่างไรก็ตาม ภายใต้ระบบ Managed Float ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลความเคลื่อนไหวและลดความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งสำหรับโจทย์ท้าทายในปีนี้จะอยู่ที่ปัจจัยไม่แน่นอนหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงิน รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย


ความท้าทายใหม่ของประเทศไทย ‘หนี้สูง-โลกเสี่ยง-สูงวัยล้น’

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า โจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนั้น มีความแตกต่างไปจากอดีต เพราะมีทั้งประเด็นเฉพาะหน้า โดยเฉพาะความคาดหวังของนักลงทุนต่อสถานการณ์และนโยบายเศรษฐกิจไทย และโจทย์ที่เกิดจากปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนและโจทย์เชิงโครงสร้าง ที่ยังต้องดูแลแก้ไข เช่น

    1) ปัญหาหนี้ในระดับสูงทั้งภาครัฐและครัวเรือน
    2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อ Global Supply Chain
    3) ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก
    4) การเตรียมตัวกับการที่ไทยกำลังเข้าสู่ Aged society ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานและภาระด้านสาธารณสุขในระยะยาว
    5) การเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

    ทั้งนี้ จะเห็นว่า โจทย์ความไม่สมดุลในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในอดีตทยอยได้รับการแก้ไขหลังการลอยตัวค่าเงินบาท การกู้เงินกับ IMF และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่ ประเด็นท้าทายรอบนี้มีความซับซ้อนและแตกต่างจากปี 2540 เพราะโจทย์ส่วนใหญ่เป็นโจทย์ระยะกลาง-ยาว ซึ่งอาจนำไปสู่การสะสมปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจในอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรร่วมกันช่วยเสริมสร้างสมดุลใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากข้อจำกัดเชิงโครงสร้างต่อระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต



Photo by Waranont (Joe) on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กรณีศึกษา ‘บาทอ่อนค่า’ เหมือนเงินเยนแค่ไหน? ผลกระทบและทิศทางหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine