TFPA จัดสัมมนาชี้เทรนด์ AI ช่วยวางแผนการเงินในยุคดิจิทัล แต่ไม่อาจแทนมนุษย์ได้ 100% - Forbes Thailand

TFPA จัดสัมมนาชี้เทรนด์ AI ช่วยวางแผนการเงินในยุคดิจิทัล แต่ไม่อาจแทนมนุษย์ได้ 100%

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย หรือ TFPA ชี้เทรนด์ AI กับการวางแผนการเงินในยุคดิจิทัล ผ่านงานสัมมนา “TFPA WEALTH MANAGEMENT FORUM 2024” โดยมีสำนักงาน คปภ. เล่าถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับ AI ในธุรกิจประกันภัย ขณะที่อีก 3 หน่วยงานมองว่า AI เป็นจุดเปลี่ยนและตัวช่วยในภาคการเงิน แต่ยังไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ 100%


    นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย หรือ TFPA เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้เล็งเห็นถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ที่มีผลต่อการวางแผนการเงิน ล่าสุดได้จัดงานสัมมนาใหญ่ “TFPA WEALTH MANAGEMENT FORUM 2024 ภายใต้แนวคิด AI กับการวางแผนการเงิน”

    ทั้งนี้ มีมุมมองว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กับผลกระทบที่มีต่อบริการทางการเงิน และการประกันภัย โดยมีความเห็นว่า AI จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อนักวางแผนการเงินในแง่ของการเสริมประสิทธิภาพการทำงาน และการให้บริการที่มีความแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ AI ยังไม่สามารถแทนที่ความสามารถของมนุษย์อย่างสมบูรณ์ เพราะในการให้คำแนะนำกับลูกค้า ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความต้องการที่หลากหลายและภายใต้สถานการณ์ที่ซับซ้อนของลูกค้า ความเข้าใจในอารมณ์และความรู้สึกของลูกค้า ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจเชิงลึก รวมถึงในมิติของการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และการสร้างความไว้วางใจ ซึ่ง AI ยังขาดทักษะในด้านนี้

เทรนด์ AI กับธุรกิจประกันภัย

    ในฝั่งหน่วยงานกำกับด้านการประกันภัย ดร.ชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึง AI และการขับเคลื่อนการประกันภัยและความท้าทายว่า สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการขับเคลื่อนภายในสำนักงาน คปภ. และอุตสาหกรรมประกันภัย จึงได้พัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี” เพื่อรองรับ ได้แก่

    1) การแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล โดยการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันทุกมิติ เช่น การรับเรื่องร้องเรียนด้านประกันภัย, โมบายแอปพลิเคชัน OIC Protect การออกใบอนุญาตด้วยระบบ E-License เป็นต้น

    2) การเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการประกันภัย โดยดำเนินการพัฒนา Insurance Bureau System (IBS) และ OIC Gateway เพื่อให้บริการข้อมูลแก่อุตสาหกรรมประกันภัย และมีแผนขยายบริการข้อมูลไปสู่ทายาทผู้เอาประกันภัยในปี 2568

    3) ข้อมูลเปิดด้านการประกันภัย เช่น พัฒนา OIC connect การเชื่อมข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก เป็นต้น


อนาคตการปรับใช้ AI ในธุรกิจ แต่คนทำงานยังเป็นส่วนสำคัญ

    McKinsey บริษัทที่ปรึกษาได้ประมาณการว่าเทคโนโลยี AI จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยทั่วโลกได้ถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยมีตัวอย่างของบริษัทที่นำ AI มาเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน เช่น PINGAN บริษัทประกันภัยรายใหญ่จากจีน นำ AI มาใช้ในกระบวนการเคลมประกันภัยรถแบบครบวงจร Lemonade จากสหรัฐฯ นำ AI ใช้ประเมินความเสี่ยงและอนุมัติกรรมธรรม์ประกันภัย เป็นต้น

    นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศไทยอยู่ในระยะแรกของการประยุกต์ใช้ Generative AI โดยมีผลสำรวจพบว่า มีองค์กร 30.8% ที่เริ่มใช้งาน Generative AI แล้ว และในจำนวนนี้ 19.2% ได้ใช้งานต่อเนื่องกว่า 1 ปี และ 23.1% ใช้งานแล้ว 6-12 เดือน นอกจากนี้ พบว่า 5 อันดับแรกของประเภทการใช้งาน Generative AI ของบริษัทประกันภัย ได้แก่ 1) ปรับปรุงกระบวนการเคลมประกันภัย 2) ตรวจสอบการทุจริตเคลมประกัน 3) กำหนดราคา 4) บริการลูกค้า และ 5) กิจกรรมการตลาด โดยในปี 2568 สำนักงาน คปภ. มีแผนจัดทำ AI Framework เพื่อกำกับดูแลและสร้างความสมดุลในการใช้ AI เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ และจริยธรรม

    รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรสิทธิ์ เกษตรเกษม กรรมการสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย กล่าวถึงการปฏิวัติการเงินและประกันภัยด้วย AI & Data Analytics ว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการสรุปและวิเคราะห์ข้อมูล โดยในอุตสาหกรรมการเงินสามารถนำมาปรับใช้กับ Micro Lending หรือ สินเชื่อรายย่อย โดยคนกลุ่มนี้อาจไม่มีประวัติในฐานข้อมูลระบบการเงิน หากนำ AI มาใช้ก็จะช่วยรวบรวมข้อมูลประวัติการใช้ชีวิตและพฤติกรรมทางการเงินบางอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าควรอนุมัติสินเชื่อหรือไม่ วงเงินเท่าไร และเหมาะกับสินเชื่อประเภทไหน หรือใช้เพื่อพิจารณาสินเชื่อแก่เกษตรกร โดยการนำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่เพื่อนำมาวิเคราะห์การให้สินเชื่อ อย่างไรก็ตาม มองว่า AI ยังไม่สามารถทดแทนการทำงานของมนุษย์ได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่มีความรู้สึก แตกต่างจากนักวางแผนการเงินเมื่อได้พูดคุยกับลูกค้า ก็อาจจะเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ดีกว่า

    ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ViaLink และกรรมการผู้จัดการแห่งสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า AI มีความสามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจะมีผลกระทบต่อการทำงานของหลากหลายอาชีพ เช่น AI สามารถวิเคราะห์การทำ Discount Cashflow (DCF) ซึ่งต้องใช้ข้อมูลและระยะเวลา แต่ AI สามารถวิเคราะห์ได้ในระยะเวลาไม่นานและสามารถแสดงข้อมูลในเชิงสถิติได้ นำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ดังนั้น มองว่าในอนาคตการนำ AI มาใช้ในการเคลมประกันภัย การตอบคำถามผ่านระบบแชตบอท หรืองานที่ต้องทำเป็นประจำซ้ำกันทุกวัน จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการใช้ AI ก็มีเช่นกัน เช่น ต้นทุนการใช้สำหรับ SME จะสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ จะต้องมีมนุษย์มารับผิดชอบเมื่อมีการตัดสินใจใช้ข้อมูลที่มาจากการวิเคราะห์ของ AI



ภาพ : TFPA, Possessed Photography on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เกาะกระแส AI พุ่ง บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันคว้าโอกาสสร้างการเติบโต

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine