พลิกโฉมนิคมอุตสาหกรรมไทย สู่จุดหมายการลงทุนโลก โอกาสทองของไทยท่ามกลางวิกฤต - Forbes Thailand

พลิกโฉมนิคมอุตสาหกรรมไทย สู่จุดหมายการลงทุนโลก โอกาสทองของไทยท่ามกลางวิกฤต

​ในขณะที่เศรษฐกิจโลกเผชิญความท้าทายจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงกลายเป็นจุดหมายการลงทุนที่น่าสนใจ ดึงดูดนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่ต้องการกระจายความเสี่ยง

​ประเทศไทย: แมกเนตการลงทุน

ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ก้าวหน้า ประสบการณ์ความสำเร็จของธุรกิจที่ลงทุนในไทย และนโยบายดึงดูดนักลงทุนจากภาครัฐ ประเทศไทยจึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักลงทุนต่างให้ความสนใจ

คว้าโอกาสจากวิกฤต

ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยมีโอกาสทองในการคว้าโอกาสทางการลงทุน        รศ.ดร. วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ชวนให้ทุกคนร่วมคิดว่า เราจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยสามารถคว้าโอกาสนี้ไว้ได้อย่างเต็มที่

"ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในแมกเนตการลงทุนของภูมิภาค เพราะนอกจากจะมีโครงสร้างของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีความก้าวหน้า ที่ผ่านมาธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในบ้านเรายังประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเช่นกัน โจทย์สำคัญจากนี้คือ ประเทศไทยจะคว้าโอกาสจากสถานการณ์โลกที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายไว้ได้มากแค่ไหน" รศ.ดร. วีริศชวนให้คิด

และด้วยนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีแนวทางที่มุ่งดึงดูดนักลงทุนจากหลายพื้นที่ทั่วโลกโดยการเดินทางไปพูดคุยกับนักธุรกิจชั้นนำ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมในเขต EEC มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น Promotion และสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ BOI ได้จัดเตรียมไว้ ล้วนส่งผลดีต่อ กนอ. ในการดึงดูดนักลงทุน ทั้งในแง่ของจำนวนนักลงทุนใหม่ จำนวนพื้นที่ขาย-เช่าในนิคมฯ และมูลค่าการลงทุนที่เกิดขึ้น

​ทั้งหมดนี้สะท้อนผ่านผลงานของ กนอ. ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2567 ที่มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ อยู่ที่ 3,946 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขต EEC 3,472 ไร่ และนอกพื้นที่ EEC อีก 474 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 158,372 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ถือว่าทะลุเป้าหมายที่วางไว้จนทำให้ กนอ. ต้องมีการตั้งเป้าใหม่ เพิ่มเติมจาก 3,000 ไร่ เป็น 4,000 - 4,500 ไร่ ซึ่งความสำเร็จนี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะจุดหมายการลงทุนที่น่าสนใจ

เดินหน้าลุยเปิด 2 นิคมฯ ใหม่ อัดโปรฯ ดึงดูดนักลงทุน

แม้ผลงานจะออกมาน่าพอใจ แต่ กนอ. ไม่หยุดที่จะเดินหน้าเพื่อผลักดันศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยในปี 2567 กนอ.มีแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 2 แห่ง ใน EEC และ จ. ลำพูน รวม 1,295 ไร่ และมีนิคมอุตสาหกรรมที่ขอขยายพื้นที่อีกจำนวน 4 แห่ง จำนวน 149 ไร่ รวมพื้นที่ใหม่ 1,444 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 43,240 ล้านบาท โดย กนอ. มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมการเกษตร และผลิตผลจากการเกษตร, อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม, กิจการสาธารณูปโภคและบริการพื้นฐาน รวมถึงกิจการขนส่งและกระจายสินค้า

​นอกจากนี้ กนอ. ยังอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่เพิ่มรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาลและเกี่ยวข้องกับอาหารทะเล รวมถึงยังมีแผนศึกษาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) และนิคมยางภาคใต้ ตลอดจนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อีกด้วย

"เราพยายามพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้หลากหลายเพื่อรองรับกับการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) ควบคู่ไปกับการยกระดับนิคมฯให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการนิคมฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"

​และเพื่อกระตุ้นการลงทุนให้เกิดขึ้นภายในปี 2567 กนอ. ยังจัดทำโปรโมชั่นสำหรับการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 ถึง 27 ธันวาคม 2567 จะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นค่าเช่าที่ดิน 1 ปี ยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ปีแรก ส่วนนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ในส่วนของรับเบอร์ซิตี้ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม–30 กันยายน 2567 ผู้ประกอบกิจการใหม่จะได้รับส่วนลด 3% จากราคาขายที่ดิน ขณะที่ผู้ประกอบกิจการเดิมจะได้รับส่วนลด 5% จากราคาขายที่ดินอีกด้วย


​ชูความพร้อม 2 โครงการสำคัญ พร้อมเดินหน้าปีนี้

นอกจากโปรเจกต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รศ.ดร. วีริศ ยังอัปเดตถึงความคืบหน้าของ 2 โครงการสำคัญที่อยู่ในแผนงานของ กนอ. เริ่มจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 55,400 ล้านบาท เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติ (LNG) 14.8 ล้านตันต่อปี ที่มีเอกชนร่วมลงทุน ความคืบหน้าอยู่ที่ อยู่ที่ 87.50% (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ค. 67)

"ตอนนี้การดำเนินงานถือว่าพัฒนาตามแผน ในปลายปี 2567 นี้การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและท่าเทียบเรือแปลง B ก็จะแล้วเสร็จ ส่วนแปลง A และ C อยู่ระหว่างการทบทวนผลการศึกษา Feasibility Syudy เพื่อการคัดเลือกหาเอกชนร่วมลงทุนฯ พัฒนาก่อสร้างต่อไป"

​ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ที่ 84.81% (ณ วันที่ 22 เมษายน 2567) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างเดินสายดึงดูดนักลงทุนเพิ่มเติม


​ติดปีกนิคมฯ ไทยสู่มาตรฐานสากล

นอกจากจะเร่งเครื่องเพื่อดึงดูดนักลงทุนแล้ว รศ.ดร. วีริศ ยังให้ความสำคัญกับการทรานส์ฟอร์มองค์กรและยกระดับการบริหารจัดการองศ์กรโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยให้การบริหารจัดการนิคมฯ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

"ที่ผ่านมา กนอ.มีการนำความรู้ นวัตกรรม และไอที มาพัฒนาองค์กร ปรับรูปแบบการทำงาน และการตัดสินใจ จากในอดีตที่เรามีรูปแบบการทำงานแบบไซโลก็ปรับให้การทำงานสามารถเชื่อมโยงถึงกันโดยง่าย มีการนำระบบ Data และ Data Analytic เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการฐานข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์และสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในการบริหารสถานการณ์ปกติ ข้อมูลในสภาวะฉุกเฉิน รวมถึงมีการบูรณาการข้อมูลในส่วนของการอนุมัติอนุญาตต่างๆ ข้อมูลการครอบครองสารเคมีและวัตถุอันตราย ข้อมูลผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาไว้บนแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและเรียกดูย้อนหลัง"

​หนึ่งในโครงการที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมไทยคือ โครงการ Digital Twin หรือการพัฒนาภาพเสมือนของนิคมอุตสาหกรรมบนโลกดิจิทัล ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์เซนเซอร์ กล้องวงจรปิด ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ ระบบขนส่ง และข้อมูลอื่นๆ เข้าด้วยกันเช่น ระบบอนุมัติอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-PP), ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), ระบบฐานข้อมูลสนับสนุนการระงับเหตุ (DSS), ระบบตรวจวัดมลพิษทางอากาศ (CEMs), โครงการตามเกณฑ์ SMART I.E. ฯลฯ พร้อมทั้งพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูล โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ที่ติดตั้งไปประมวลผล สามารถแสดงผลแบบเรียลไทม์บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ช่วยให้ผู้บริหารของ กนอ. สามารถวิเคราะห์ข้อมูล ตัดสินใจ และบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

​กนอ. ได้พัฒนาโครงการ Digital Twin ต้นแบบแห่งแรกขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ปัจจุบันได้ขยายผลไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก 13 แห่งของ กนอ.

นอกเหนือจากการเดินหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับนักลงทุน การนำดิจิทัลเข้ามายกระดับการดำเนินการและให้บริการ กนอ. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคคลากรให้พร้อมรอบรับการเติบโตของโลกอนาคต

"สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า ในขณะที่สัดส่วนจีดีพีด้านอื่นๆ ของประเทศตกต่ำลง แต่ส่วนที่ยังพยุงเศรษฐกิจของประเทศไว้ได้ มาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่มีการบริหารจัดการได้ดี ทำให้ซัพพลายเชนในบ้านเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนโลกอีกด้วย"

ดังนั้น หนึ่งในภารกิจสำคัญของ กนอ. ซึ่งกำเม็ดเงินลงทุนอยู่ถึงกว่า 17 ล้านล้านบาท เกือบจะเท่าจีดีพีของประเทศไทย มีโรงงานที่ดูแลอยู่กว่า 5,000 แห่ง ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 900,000 อัตรา คือ การพัฒนาสถาบัน กนอ. (I-EA-T Institute) พัฒนาทักษะแรงงาน ภาคอุตสาหกรรมไทยให้ตอบโจทย์นักลงทุนต่างชาติ ผลักดันผู้ประกอบการสู่อนาคตยกระดับนิคมอุตสาหกรรมไทยสู่ความอัจฉริยะ สร้างจุดแข็งให้กับประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (พว.) และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนั่นเอง

​รศ.ดร. วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

​รศ.ดร. วีริศ ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า แม้หมุดหมายสำคัญของ กนอ. คือ การดึงดูดนักลงทุนเพื่อสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศ แต่สิ่งที่ กนอ. ตระหนักและให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การดูแคนในชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

"แม้วันนี้โจทย์ของเราคือ การสร้างนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่เพื่อรองรับการลงทุนในรูปแบบที่เปลี่ยนไป มีความหลากหลายขึ้น อย่างในอนาคตอันใกล้เราก็จะพัฒนานิคมฯคาร์บอนต่ำรองรับพลังงานสะอาด พร้อมกับมีการดูแลกฎระเบียบต่างๆ ให้รองรับการลงทุนมากขึ้น เรายังพยายามยกระดับมาตรฐานในการดูแลคนในชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมไปด้วยเช่นกัน"

​ทั้งหมดนี้คือ แนวคิดของ รศ.ดร. วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการกนอ. ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ กนอ. ที่จะเชื่อมต่อจุด (Connect the Dots) เพิ่มพลังบวกเพื่อการลงทุน เชื่อมโลก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความยั่งยืน โดย กนอ. พร้อมสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การเสนอแก้ไขเรื่องกฎหมายซับซ้อนและอุปสรรคต่างๆ ในการเข้ามาทำธุรกิจในไทย พร้อมทั้งผลักดันการบริการของ กนอ. ให้เป็น One-stop Service ที่สามารถให้บริการด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิตทั้งแรงงาน ทุนเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม