บมจ.สกิลเลน เทคโนโลยี หรือ SKILL บริษัทด้าน Education Technology เดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมขาย IPO 15 ล้านหุ้น ในตลาดหุ้น mai หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง มุ่งสร้างนวัตกรรมยกระดับการศึกษาไทยผ่านการพัฒนาหลักสูตรการเรียนออนไลน์ แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ ฯลฯ
นายวิศรุต อังศุภากร ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าสายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน SKILL กล่าวว่า ความคืบหน้าแผนการเสนอขายหุ้น IPO และการนำ SKILL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai
ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) แล้ว เพื่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 15 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 15% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายนำเงินจากการเสนอขาย IPO ไปใช้ในการพัฒนาและขยายธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อสนับสนุนผลการดำเนินงานให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุน

นายฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกิลเลน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SKILL ธุรกิจด้านเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) ของไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์แบบครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรการเรียนออนไลน์ (Content) แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ (Platform) และการให้บริการที่ปรึกษาการเรียนออนไลน์ (Service) โดยมุ่งเน้นให้ลูกค้าสามารถเรียนรู้ และพัฒนาทักษะของตนเองได้อย่างสะดวกโดยปราศจากข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเองและบรรลุเป้าหมายของแต่ละช่วงในชีวิตได้
นอกจากนี้ SKILL ยังประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา แก่หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษามากว่า 10 ปี โดยมีคอร์สออนไลน์คุณภาพมากกว่า 3,900 คอร์สเรียน สอนโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 1,300 คน และมีการเปิดบัญชีผู้ใช้งานในระบบมากกว่า 1,300,000 บัญชีสำหรับบุคคลทั่วไปและลูกค้าองค์กร
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีบริการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์แบบครบวงจร
1.1 สำหรับบุคคลทั่วไป (SkillLane for Public : B2C) เช่น แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ เรียนรู้ได้ด้วยตนเองและหลักสูตรเพื่อพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพ เช่น วิชาชีพประกันภัย และวิชาชีพการลงทุน
1.2 สำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กร (SkillLane for Business : B2B) ให้บริการแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์สำหรับองค์กร (Corporate Online Training) เช่น (1) บริการการเรียนแบบไม่จำกัด (Buffet) (2) การพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่องสำหรับองค์กร (Continuing Professional Development : CPD) และ (3) ระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ในองค์กร (Learning Management System : LMS)
1.3 สำหรับปริญญาออนไลน์ (SkillLane for Online Degrees) ปัจจุบัน SKILL ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้บริการแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ สำหรับปริญญาโทออนไลน์ภายใต้โครงการ TUXSA โดยเป็นหลักสูตรแบบ Self-Paced Online Master’s Degree ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์จำนวน 4 หลักสูตร
นอกจากนี้ SKILL ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยมีแผนในการพัฒนาหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์สำหรับหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตจำนวน 3 หลักสูตรภายในปี 2570 ซึ่งมุ่งเน้นด้านการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) เทคโนโลยีทางการตลาด (Marketing Technology) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)

2. ธุรกิจการให้คำปรึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา (SkillLane Innovation) ปัจจุบัน SKILL เริ่มพัฒนานวัตกรรมระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ของผู้ใช้งาน ได้แก่ การพัฒนาแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ และระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับการเรียนรู้ เพื่อช่วยยกระดับการศึกษาไทย
“SKILL มีความมุ่งมั่นที่จะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษามายกระดับการศึกษาไทย โดยเราจะยังคงเดินหน้าพัฒนาและขยายผลิตภัณฑ์รวมถึงบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนและองค์กร พร้อมสร้างมาตรฐานใหม่แก่การศึกษาไทย ให้การศึกษาไทยก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน” นายฐิติพงศ์ กล่าว
ภาพ: บริษัท สกิลเลน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เปิดใจ ‘สุธี อัสววิมล’ หรือ พี่โหน่ง แห่ง OnDemand จากวิศวกรโรงงาน สู่ 2 โรงเรียนมัธยมแนวใหม่บน MBK
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine