จับสัญญาณเฟด เงินเฟ้อกดดันลดดอกเบี้ย - Forbes Thailand

จับสัญญาณเฟด เงินเฟ้อกดดันลดดอกเบี้ย

ตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา สวนทางตลาดต่างประเทศพุ่งแรง ขณะที่สัปดาห์นี้ต้องติดตามถ้อยแถลงของเฟดและทิศทางอัตราดอกเบี้ย ซึ่งตลาดคาดว่าจะปรับลดลง 3 ครั้งในปีนี้ ส่วนไทยนักวิเคราะห์ให้น้ำหนักเพิ่ม 2 ครั้ง จับตาตัวเลขเงินเฟ้อยังมีทิศทางปรับตัวลดลง ทรีนิตี้ เพิ่มน้ำหนักลงทุนเดือน มี.ค.ซื้อของถูก LH Fund แนะลุยตลาดต่างประเทศ


    ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่รายงานผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2566 ออกมาน่าผิดหวัง และกลุ่มโรงไฟฟ้าจากความกังวลในประเด็นที่ภาครัฐอาจพยายามตรึงอัตราค่าไฟฟ้า

    นอกจากนี้ การปรับ MSCI Rebalance ซึ่งมีผลในวันที่ 29 ก.พ. 2567 และแรงขายทำกำไรหลังจบช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2566 ส่งผลให้หุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงเทขายหุ้นบิ๊กแคปในหลายอุตสาหกรรม สวนทางกับภาพรวมตลาดหุ้นต่างประเทศที่ขยับขึ้น ปิดตลาดวันศุกร์ที่ 1 มี.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,367.42 จุด ลดลง 2.20% จากปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 58,557.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.55%

    ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ วันที่ 1 มี.ค. 2567 ปิดที่ 39,087.38 เพิ่มขึ้น 90.99 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,137.08 จุด เพิ่มขึ้น 40.81 จุด และ Nasdaq พุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 16,274.94 จัด เพิ่มขึ้น 183.02 จุด โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัว และการไต่ระดับสูงสุดใหม่ของหุ้นเทคโนโลยีอย่าง Nvidia ที่ปิดด้วยมูลค่าตลาดที่สูงกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก

    สำหรับสัปดาห์นี้ วันที่ 4 – 8 มี.ค. 2567 บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,360 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,375 และ 1,385 จุดตามลำดับ

    โดยมีปัจจัยต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.พ.ของไทย ถ้อยแถลงของเฟดและทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีภาคอุตสาหกรรมโรงงานและบริการ (ISM/PMI) ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร


คาดเฟดลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง ไทย 2 ครั้ง

    ดร.สุวัฒน์ ชิตามระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์และนวัตกรรม กลุ่มธุรกิจการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ไม่ได้แย่อย่างที่คาดการณ์ไว้ มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยน้อยลง ทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อค่อยๆ ปรับตัวลดลง

    อย่างไรก็ตาม คาดว่าเฟดยังคงมีนโยบายการเงินอย่างเข้มงวด โดยปีนี้น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง จากที่ตลาดคาดว่าจะปรับลดลง 4 ครั้ง สำหรับประเทศไทย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ จากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับตัวขึ้นได้อย่างน้อย 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หรืออยู่ที่ประมาณ 1,500 จุด

    ขณะที่ มนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด หรือ LH Fund มองว่า ตลาดหุ้นไทยอย่าไปมองภาพโดยรวม เพราะมีหลายปัจจัยเข้ามากระทบ ให้เลือกพิจารณาหุ้นรายตัวที่มีโอกาสเติบโต โดยพิจารณาจากทิศทางการบริหาร และคณะผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก

    อย่างไรก็ตาม ได้แนะนำให้นักลงทุนมองโอกาสการลงทุนหุ้นต่างประเทศไปด้วย โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ ที่มองว่ายังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เน้นกลุ่มไซเบอร์ซิเคียวริตี้ โดยเข้าไปเก็บหุ้นได้ในช่วงเดือนพ.ค. หรือที่เรียกว่า Sell in May ยังมีโอกาสทำกำไรได้


“ทรีนีตี้” เพิ่มน้ำหนักลงทุน เชียร์ซื้อของถูก

    ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือนมีนาคม 2567 คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ได้ โดยมีปัจจัยหนุนอยู่หลายปัจจัย ได้แก่

    1.การเริ่มต้นบังคับใช้มาตรการฟรีวีซ่าระหว่างไทย-จีน ซึ่งน่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น

    2.ความคาดหวังต่อการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการลงทุน หลัง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับใหม่มีโอกาสถูกประกาศใช้เร็วขึ้น

    3.ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนทั่วไปในประเทศ หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เริ่มมีการปรับตัวที่ Active มากขึ้น โดยการออกมาตรการจำกัดธุรกรรม Short selling หรือ Program trading รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญต่างๆ

    4.ทิศทางเงินลงทุนจากต่างชาติ (Fund flow) น่าจะเริ่มกลับเข้ามาเป็นบวกมากขึ้น หลังการปรับดัชนี MSCI ในช่วงสิ้นเดือนที่ผ่านมา

    5.Valuation ของตลาดหุ้นไทยที่ลงมาอยู่ในโซนที่น่าสนใจแล้ว สะท้อนผ่าน Earning yield gap ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง และ Relative PE ระหว่างหุ้นไทยกับหุ้น ASEAN ที่ลงมาอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

    6.การปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนของไทยน่าจะสิ้นสุดลงชั่วคราว หลังผ่านพ้นเทศกาลประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2566

    ทั้งนี้ ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET ในเดือนนี้จะมีแนวรับแรกอยู่ที่ 1,370 จุด และแนวรับสำคัญอยู่ที่ 1,340 จุด ในทางกลับกัน ประเมินแนวต้านแรกที่ 1,410 จุด และแนวต้านสำคัญ 1,440 จุด ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำนักลงทุนหาจังหวะเข้าสะสมหุ้นไทยที่บริเวณดัชนี 1,370 จุดหรือต่ำกว่า

    กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจประจำเดือนนี้ ได้แก่ 1.กลุ่มโรงแรม ได้แก่ MINT, CENTEL, ERW 2.กลุ่มค้าปลีก ได้แก่ CPALL, CPAXT, BJC 3.กลุ่มโรงพยาบาล BDMS, BH, BCH, PR9 และ 4.กลุ่มสื่อสาร ADVANC, TRUE

    ส่วนกลุ่มที่น่าสนใจสำหรับการเก็งกำไรไปตามปัจจัยแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (ตามความคาดหวังการเบิกจ่ายภาครัฐ) และ กลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ (ตามวอลุ่มการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยที่สูงขึ้น)


Image by freepik



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : หาสินทรัพย์ทางเลือก กระจายความเสี่ยงลงทุน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine