ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,398.14 จุด วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มขึ้น 0.86% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน ส่งผลกระทบตลาดหุ้นทั่วเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น ซีอีโอโนมูระคาดทะยานแตะระดับ 40,000 จุด แนะมองหาสินทรัพย์ทางเลือกกระจายความเสี่ยงลงทุน อเบอร์ดีนเชื่อมั่นหุ้นไทย 1,560 จุดปีนี้ หุ้นกลาง-เล็ก โดดเด่น
ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา ปิดที่ระดับ 1,398.14 จุด วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มขึ้น 0.86% ท่ามกลางความผันผวนตั้งแต่ต้นสัปดาห์ หลังตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2566 ขยายตัว 1.7% รวมทั้งปีขยายตัว 1.9% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์
อย่างไรก็ตาม หุ้นไทยดีดตัวขึ้นตั้งแต่กลางสัปดาห์ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร หลังมีข่าวประกาศจ่ายเงินปันผลของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ 7.84 บาทต่อหุ้น รวมทั้งปีจ่ายปันผล 10.34 บาทต่อหุ้น
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเตรียมออกมาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต (Short selling) และการใช้คอมพิวเตอร์สั่งขาย (program trading) เป็นปัจจัยบวกสนับสนุนให้หุ้นไทยปรับตัวผ่าน 1,400 จุด และย่อตัวอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์
สำหรับสัปดาห์นี้ (26 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2567) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่าดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,385 และ 1,375 จุด แนวต้านอยู่ที่ 1,410 และ 1,420 จุดตามลำดับ
โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนกุมภาพันธ์ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2566 และตัวเลขผู้ว่างงานรายสัปดาห์
ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชีย ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงเมื่อวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยกเว้นดัชนีนิกเคอิของญี่ปุ่น ปิดที่ระดับ 39,233.71 ขณะที่ปิดตลาดวันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ระดับ 39,309.76 สูงสุดเป็นประวัติการณ์
การอ่อนค่าของเงินเยนเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดอื่นๆ ลดลง ทั้งดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตของตลาดหุ้นจีน ส่วนดัชนีดาวโจนส์ และ S&P 500 ยังทำระดับสูงสุดเช่นเดียวกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ซีอีโอโนมูระคาดดัชนีนิกเคอิแตะ 40,000 จุด
Kentaro Okuda ประธานและซีอีโอของโนมูระ โฮลดิ้งส์ ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei คาดการณ์ว่าดัชนีนิกเคอิจะขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 40,000 จุด ในปี 2567 จากความสนใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีของหุ้นญี่ปุ่น จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูงในปัจจุบัน เขามองว่านักลงทุนมีโอกาสสร้างผลกำไรที่มากกว่าหากมีการกระจายการลงทุนไปสู่สินทรัพย์ส่วนบุคคล เช่น อสังหาริมทรัพย์ และหุ้นเอกชนที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นและพันธบัตร
“อสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ และมีแนวโน้มที่จะไม่สูญเสียมูลค่าในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากพันธบัตรและหุ้นเป็นพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ การกระจายความเสี่ยงด้วยสินทรัพย์ทางเลือก จะทำให้ผลการดำเนินงานมีเสถียรภาพมากขึ้น” Okudaกล่าว
ญี่ปุ่น ได้ออกโปรแกรม เรียกว่า Nippon Individual Savings Account (NISA) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการลงทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษีแบบไม่มีกำหนด จากก่อนหน้านี้ได้กำหนดระยะเวลาสูงสุด 20 ปี เพื่อเป็นจากการออมเงินเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อเพิ่มขนาดของสินทรัพย์ในครัวเรือน
นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงธนาคารกลางญี่ปุ่นยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายทั้งการตรึงดอกเบี้ยติดลบ และการกำหนดเพดานของอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อนักลงทุน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและส่งออก
อเบอร์ดีนมองหุ้นไทยปีนี้แตะ 1,560
ด้าน ดรุณรัตน์ ภิยโยดิลกชัย Head of Equities บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) กล่าวว่า กลุ่มอเบอร์ดีนยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และคาดว่าดัชนีน่าจะอยู่ในกรอบ 1,406 – 1,560 จุด และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 3%
ขณะที่ส่วนของกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (EPS) อยู่ที่ 5% เติบโตจากปีก่อนที่ -8% โดยมองว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กยังเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว และเฮลธ์แคร์ ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ตามเป้าหมาย 33 – 35 ล้านคน
ขณะที่ พงค์ธาริน ทรัพยานนท์ Head of Fixed Income and Asset Allocation มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีแรก น่าจะยังเผชิญกับความผันผวนของเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้การลงทุนมีความผันผวนตามไปด้วย แม้ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงขาลง แต่ระหว่างทางอาจมีความผันผวนจากปัจจัยความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์
ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสเข้าสูภาวะชะลอตัวแบบ Soft Landing โดยคาดว่าสหรัฐฯ ได้สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว และจะเริ่มเห็นธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 3.25 – 3.5% ในปี 2567 และปรับลดลงมาที่ 2 – 2.25% ภายในปี 2568
ทั้งนี้ อเบอร์ดีนแนะนำการลงทุนในตราสารหนี้ Investment Grade เนื่องจากจะได้รับผลกระทบไม่มาก หากเศรษฐกิจสหรัฐเกิดภาวะถดถอยแรงกว่าที่คาด โดยปัจจุบันผลตอบแทนของ Investment Grade อยู่ที่ระดับ 6 – 7% ต่อปี
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่มีความน่าสนใจ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาลง โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดว่าไทยจะลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง อเบอร์ดีนจึงแนะนำการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ และกองทุนหุ้นต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงรองรับตลาดที่ยังคงผันผวน
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : KResearch คาดปี 67 หนี้เสียสินเชื่อรถพุ่งแตะ 2.66 หมื่นล้าน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine