ตลท. เผยตั้งแต่ทรัมป์ประกาศ Liberation Day เมื่อ 2 เม.ย. 68 ส่งผลให้ SET Index ร่วง 8.4% โดยต้องจับตาใกล้ชิด มั่นใจว่ามีเครื่องมือพร้อมดูแล ซึ่งหลัง 6 เม.ย. ได้ออกมาตรการฯ ชั่วคราว คิดว่าช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดทุนไทยได้ ส่วนเดือน มี.ค. 68 SET Index ปิดที่ 1,158.09 ลดลงต่อเนื่องที่ระดับ 3.8% ขณะที่ปริมาณซื้อขายช่วงปลายเดือนลดลงอย่างชัดเจน เกิดจากทรัมป์ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้า
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เมื่อ 8 เม.ย. 2568 SET Index ปิดที่ 1,074.59 จุด ลดลง 4.50% มูลค่าการซื้อขายรวม 66,714 ล้านบาท สะท้อนแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากความวิตกต่อมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ 9 เม.ย. 2568
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนโยบาย Liberation Day SET Index ปรับลดลง 8.4% สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ทั่วโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ตลท. ต้องวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาคิดต่อว่า ‘อะไร’ จะเหมาะสมกับสถานการณ์ในอนาคต ซึ่งมีเครื่องมือต่างๆ ที่พร้อมเข้าดูแล โดย 7 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้ออกมาตรการผ่านการปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor, Dynamic Price Band และห้ามขายชอร์ต เป็นการชั่วคราว
“มาตรการที่ประกาศใช้เมื่อวานนี้ คิดว่าช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดทุนไทยได้ในระดับหนึ่ง ตลาดเราลดลง 4.50% ซึ่งน้อยกว่าหลายตลาดในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการปรับตัวในวันก่อนหน้า แต่เมื่อยังมีความผันผวน ตลท.คงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด" นายอัสสเดช กล่าวต่อว่า “สถานการณ์ปัจจุบัน Sensitve มากกับข้อมูล ดังนั้นยิ่งต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจน”
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการขึ้นภาษีทรัมป์ ต่อ GDP ไทยมองว่ายังต้องวิเคราะห์เจาะลึกไปแต่ละเซคเตอร์เพื่อประเมินให้ชัดเจน
ทั้งนี้ ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยในเดือน มี.ค. 68 SET Index ปิดที่ 1,158.09 จุด ปรับลดลง 3.8% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 SET Index ปรับลดลง 17.3%

ในส่วนผลกระทบจากแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อ 28 มี.ค. 68 ทางตลาดหลกทรัพยฯ แจ้งปิดการซื้อขายทุกตลาด ทั้ง SET mai และ TFEX ในภาคบ่าย เบื้องต้นมองว่าจะเป็นผลกระทบในระยะสั้นและมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นไทยเผชิญภัยพิบัติในอดีต เช่น
- สึนามิ ปี 2547 SET Index ปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดที่ลบ 2.2% แต่สามารถฟื้นตัวภายใน 5 วันทำการ
- น้ำท่วม ปี 2554 SET Index ปรับตัวลดลง 18% แต่สามารถฟื้นตัวภายใน 6 เดือน
เบื้องต้นนักวิเคราะห์ประเมินความเสียหายแผ่นดินไหวครั้งนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท และการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบในระยะสั้น คาดว่าจะกระทบ GDP ไทยให้ลดลง 0.06%

ขณะที่ข้อมูลจาก SET Index ในเดือนมี.ค. 68 พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2567 ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มทรัพยากร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอาหาร และ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 38,491 ล้านบาท หรือลดลง 10.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วงไตรมาส 1/2568 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมฯ อยู่ที่ 42,826 ล้านบาท ลดลง 6.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 21,852 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2568 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 39,978 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จาก SET Index ช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก ทำให้ Valuation ของหลักทรัพย์อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ดังนั้น เริ่มเห็นสัญญาณ บจ. ไทยเข้ามาช่วยหนุนมูลค่าบริษัทของตัวเองโดยการเข้ามาซื้อหุ้นคืน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน ขณะที่ Value Stock เริ่มมี downside ที่จำกัด
ขณะที่ Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 12.2 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 11.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 15.2 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.9 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 4.24% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.34%
ภาพ: SET, AFP, Alec Favale on Unsplash
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : KKP เผยตลาดหุ้นไทยเจอแรงกดดันหนัก ลดเป้า SET Index ปีนี้เหลือ 1,230 จุด ระยะสั้นอาจแตะ 1,000 จุด
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine