'เอสซีจี' ปรับทัพเสริมแกร่งธุรกิจ - Forbes Thailand

'เอสซีจี' ปรับทัพเสริมแกร่งธุรกิจ

เอสซีจีเผยแผนรุก Future Forward เร่งปรับตัว เสริมแกร่งธุรกิจ ตามแนวทาง Inclusive Green Growth สร้างความสามารถในการแข่งขัน รับวัฏจักรปิโตรเคมีผันผวนยาว เตรียมเพิ่มออปชันวัตถุดิบปิโตรเคมีเวียดนาม LSP ด้วยก๊าซอีเทน ดันปูนคาร์บอนต่ำส่งออก คว้าโอกาสจากนโยบายหนุนนวัตกรรมกรีน ดึงเทคโนโลยียกระดับการอยู่อาศัย สร้างชีวิตกรีน&สมาร์ท ขยายธุรกิจพลังงานสะอาดสู่อาเซียน สร้าง New S-curve


    ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวถึงสถานการณ์โลกปัจจุบันและทิศทางอนาคตว่าในระยะ 3-5 ปีว่าจะมีความผันผวนมากขึ้น ทั้งความท้าทายจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า สงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และกฎเกณฑ์ใหม่ๆ จากประเทศตะวันตก  บริษัทจึงเดินหน้าปรับกลยุทธ์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมลดคาร์บอนไดออกไซด์ ตามแนวทาง Inclusive Green Growth เพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันระยะยาว

    ด้านสงครามการค้า สถานการณ์ขณะนี้คือสินค้าจีนเข้ามาในไทยและได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากจีนมีระบบเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทยหลายสิบเท่า สเกลก็ใหญ่กว่า และยังมีเทคโนโลยีที่สูง ทำให้สินค้าจีนตีตลาดไทยได้หมด ดังนั้น สินค้าประเภทใดที่จีนผลิตได้ดีกว่า บริษัทจะไม่ผลิตแข่ง แต่ปรับไปทำด้านอื่นแทน ตัวอย่างเช่น ทีมสมาร์ทลีฟวิ่ง นำสินค้ามาประกอบและขายเป็นระบบ เช่น รูฟทอปซิสเตม บาทรูมซิสเตม  โดยใช้สินค้าแต่ละตัวจากจีนและที่ผลิตในประเทศ นำมาประกอบเป็นระบบให้ดีที่สุด ต้นทุนถูกที่สุด เพิ่มการใช้หุ่นยนต์เพื่อให้ต้นทุนแข่งขันได้ และมีโอกาสส่งสินค้ากลับไปขายที่จีน 


    ธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างและที่อยู่อาศัย “เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน” มุ่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เพื่อเตรียมความพร้อมจากมาตรการภาษีคาร์บอนที่เริ่มบังคับใช้ในหลายประเทศ โดยลดคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดกระบวนการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และสร้างโอกาสการเติบโตจากนโยบายสนับสนุนการใช้ปูนคาร์บอนต่ำในหลายโครงการทั้งของภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมาสามารถส่งออกปูนคาร์บอนต่ำไปสหรัฐอเมริกามากกว่า 1 ล้านตัน รวมทั้งขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ในอาเซียน ออสเตรเลีย และแคนาดา 

    ปัจจุบันกำลังพัฒนาปูนคาร์บอนต่ำเจเนอเรชัน 3 ที่สามารถเพิ่มสัดส่วนการทดแทนปูนเม็ดในการผลิตซึ่งลดคาร์บอนไดออกไซด์ 40-50% เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์ประเภทเดิม รวมทั้งเร่งขยายกำลังการผลิตปูนคาร์บอนต่ำในเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและสามารถเป็นฐานการส่งออกในอนาคต 

    ทิศทางของ “เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง” สินค้าหลักอย่างกลุ่มวัสดุก่อสร้าง จะมุ่งพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำมากขึ้น ตอบโจทย์ตลาดรักษ์โลก ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ออกแบบผลิตภัณฑ์ เพิ่มความรวดเร็วและปรับได้ตามความต้องการลูกค้า ควบคู่กับพัฒนากระบวนการผลิต เพิ่มการใช้หุ่นยนต์ บริหารต้นทุนให้แข่งขันได้กับผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่เข้ามา เช่น จีน และเตรียมขยายตลาดวัสดุก่อสร้างไปยังอินเดีย และตะวันออกกลาง  

    นอกจากนี้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนสินค้างานระบบ ตอบโจทย์การก่อสร้างเร็วและใช้งานดีขึ้น โดยเฉพาะระบบผนังที่มีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย ช่วยกันร้อนและกันเสียง รวมไปถึงระบบหลังคา ดีไซน์หลากหลาย ปรับได้ตามความต้องการและแบบบ้าน พร้อมฟังก์ชันกันร้อน และช่วยประหยัดพลังงาน 


    “เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล” ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มและ AI ยกระดับระบบจัดจำหน่ายสินค้าให้ลูกค้าและคู่ค้าเข้าถึงสะดวกขึ้น ลดระยะเวลาการเก็บสินค้าคงคลัง และคาดการณ์ความต้องการสินค้าในอนาคต เช่น แอปพลิเคชัน Prompt Plus สำหรับระบบค้าส่ง สามารถช่วยวิเคราะห์และนำเสนอสินค้าตามความต้องการ เพื่อการบริหารจัดการสินค้าคงคลังของผู้แทนจำหน่ายและร้านค้ารายย่อยให้มีประสิทธิภาพ นำเสนอคอนกรีตผสมแบบพร้อมใช้ ‘CPAC Ready Mix’ และ ‘CPAC 3D Printing Solution’ เข้าสู่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำในการก่อสร้าง ลดของเสียหน้างาน 

    สำหรับ เอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ 39% ของรายได้รวมเอสซีจี เร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรับมือกับสถานการณ์อุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกที่อ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง ธุรกิจจึงเตรียมแผนเพิ่มศักยภาพโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals :LSP) ให้มีความยืนหยุ่นด้านต้นทุนการผลิต โดยเพิ่มทางเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิต เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติอีเทน (Ethane) เป็นวัตถุดิบเพิ่มเติมจากการใช้แนฟทา (Naphtha) และก๊าซธรรมชาติโพรเพน (Propane) เนื่องจากราคาเฉลี่ยอีเทนต่ำกว่า 40% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยราคาของแนฟทาและโพรเพนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 



    ในการนี้ต้องมีการติดตั้งถังเก็บวัตถุดิบและท่อนำส่งก๊าซอีเทน คาดว่าใช้ระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 3 ปี เพื่อเดินหน้าการผลิตโอเลฟินส์ และพอลิโอเลฟินส์อย่างพอลิเอทิลีนและพอลิโพรพิลีน ตอบโจทย์ความต้องการพลาสติก สำหรับผลิตสินค้าอุปโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันในตลาดเวียดนามซึ่งมีความต้องการสูง โดย LSP จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2567

    ธุรกิจ New S-Curve หรือเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ เดินหน้าขยายสู่อาเซียน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มุ่งสู่เป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 3,500 เมกะวัตต์ในปี 2573 ด้วยจุดแข็งด้านนวัตกรรมและโซลูชันพลังงานสะอาดครบวงจรระดับโลก ทั้งระบบบริหารจัดการ การผลิต การจัดเก็บ (Energy Storage System) และจำหน่ายไฟฟ้าจากแพลตฟอร์มพลังงานสะอาด ‘Smart Micro Grid’ ตลอดจนแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานความร้อนจากพลังงานสะอาด (Heat Battery) สำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่โรงงานปูนซีเมนต์ เอสซีจี จ.สระบุรี นอกจากนี้ ยังลงทุนในบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง 'นวัตกรรมการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Tandem Perovskite' เพื่อผลิตเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 30 % 

    “การเติบโต Inclusive Green Growth ไปสู่โลว์คาร์บอน ในต้นทุนที่รับได้ เช่น ซีเมนต์ และคลีน เอนเนอยี่ เราเห็นว่าจะมีโอกาสเติบโตอย่างมากระยะยาว ปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานสะอาด 17-18% ถ้าอยากไปให้ถึงเป็นตามคอมมิตเมนต์ของ Paris Agreement (รัฐบาลไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 20–25% ภายในปี พ.ศ.2573) ต้องใช้ 50% แสดงว่าอัตราการเติบโตในไทยมีสูงมาก ในภูมิภาคก็ยังมีอีกมาก...จะสร้างธุรกิจใหม่ ทำให้พอร์ตโฟลิโอมีความเข้มแข็งระยะยาว”

    ทั้งนี้ เอสซีจีใช้งบประมาณการลงทุนปีละ 40,000  ล้านบาท และมุ่งลดเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ 10-15% จากการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โฟกัสในธุรกิจที่มีศักยภาพ ปิดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร จัดสรรทรัพยากรและกำลังคนมาโฟกัสในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต โดยครึ่งแรกของปีมีเงินสดคงเหลือ 78,907 ล้านบาท




​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : บลจ. ยูโอบี เพิ่มโอกาสการลงทุนแก่ลูกค้าเปิดขายหุ้นกองทุนสหรัฐฯ UUSA 17-24 ก.ย. 2567

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine