โลกการเงินปั่นป่วนและมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่สงครามการค้าเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น จนกระทั่ง 2 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากับนานาประเทศจะมีผล 9 เม.ย. 68 ซึ่งออกมาแรงกว่าที่ตลาดคาด ทว่าล่าสุดเมื่อวานนี้ในส่วนของ Reciprocal Tariffs ได้ปรับเลื่อนออกไป 90 วัน ในประเทศที่ไม่มีการออกมาตรการตอบโต้ ดังนั้นถือว่าจีนตอนนี้อาจเจอผลกระทบมากที่สุด
นายปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า การเลื่อนใช้มาตรการทางภาษีนำเข้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่ได้เท่ากับการยกเลิก ดังนั้นเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอาจยังไม่ได้คลายความกังวลง
ทั้งนี้ หลังจาก 2 เม.ย. 68 ที่ทรัมป์ ประกาศ 1) Universl Tariffs สินค้าทุกประเทศ ในอัตรา 10% มีผล 5 เม.ย. 68 และ 2) มาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ใน 60 ประเทศ/กลุ่มเศรษฐกิจที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูงในอัตราที่แตกต่างกัน จะมีผล 9 เม.ย. 68 ล่าสุดได้ประกาศเลื่อนออกไป 90 วัน (ยกเว้นจีนที่เจออัตราภาษีเกิน 100%)
เบื้องต้นคาดว่าภายในปี 2568 อัตราภาษีที่ 10% น่าจะปรับใช้กับทุกประเทศเพราะเจรจาได้ยาก ขณะที่ Reciprocal Tariffs ที่ไทยเจอในอัตรา 36% (ถือว่าสูงเพราะอยู่อันดับ Top 20 ของโลก) เชื่อว่ามีโอกาสจะเจรจาต่อรองได้ ซึ่งยังต้องติดตามว่าจะสามารถเจรจาลดภาษีได้หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด
ในภาพรวมการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐเป็นความเสี่ยงด้านลบที่ทำให้การตัดสินใจด้านการค้า การลงทุนระหว่างประเทศชะลอลง และจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกปี 2568 ชะลอลงค่อนข้างมากเหลือ 2.2% จากเดิมที่คาดไว้ราว 2.6% (แต่ยังไม่รวมการประกาศเลื่อนใช้มาตรการทางภาษีล่าสุด) ในส่วนของไทยคาดว่าจะเจอผลกระทบทั้งทางตรง อย่างการส่งออกไปสหรัฐอาจลดลง และทางอ้อม สินค้าจีนที่ส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ อาจทะลักเข้ามาไทยทำให้การแข่งขันยากขึ้น

ดังนั้น ในระยะสั้นมองว่าไทยต้องเตรียมเจรจาการค้า และเตรียมแผนเพื่อรับผลกระทบ เช่น กระจายสู่ตลาดใหม่ เร่งข้อตกลง FTA, เข้มงวดกับสินค้าที่นำเข้าผิดกฎหมาย/เลี่ยงภาษี ฯลฯ ขณะที่ระยะยาวมองว่าต้องมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ยกระดับทักษะแรงงานและผู้ประกอบการ รวมถึงการลดกฎเกณฑ์ของภาครัฐเพื่อลดอุปสรรคทางธุรกิจ
“เศรษฐกิจไทยหลังโควิดเติบโตค่อนข้างต่ำที่ 2% นิดๆ เท่านั้นเอง 4 ปีย้อนหลังนี้ ถือว่าต่ำกว่าอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างเยอะ ถ้าเราลองมองลึกลงไป หลังโควิดประเทศไทยฟื้นตัวช้าติดอันดับ Top แต่เป็น Top จากท้ายของโลก อยู่อันดับที่ 160 จาก 185 ประเทศทั่วโลก” นายปุณยวัจน์ กล่าว
ดังนั้นเศรษฐกิจไทย นอกจากเติบโตช้าจากแรงกดดันจากภาษีทรัมป์ ยังมีความเปราะบางใน 2 ด้าน ได้แก่ 1) ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงของไทยที่กว่า 90% ซึ่งหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยสูงเป็นอันดับ 1 ของตลาดเกิดใหม่ ย่อมจะกระทบภาคการบริโภคของไทย 2) ภาคธุรกิจยังเปราะบางเพราะมี Zombie Firm สูงส่วนหนึ่งเพราะแผลจากโควิด และ SME ที่รายได้ยังฟื้นตัวช้า

โชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต SCB EIC กล่าวว่า มาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ที่จะเก็บไทยราว 36% ประเมินว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ลดลงสะสมราว 810,000 ล้านบาท (เมื่อบังคับใช้ครบ 5 ปี) ในปีท้ายจะยิ่งเห็นผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบสูง มักเป็นสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง หรืออาจเจอผลกระทบจากสินค้าจีนทะลักเข้าไทยรุนแรงขึ้น ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์, เซมิคอนดักเตอร์, คอมพิวเตอร์, HDD, เหล็ก, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์สื่อสาร, สิ่งทอ, ถุงมือยาง ฯลฯ ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบปานกลาง เช่น ผักผลไม้สด/แปรรูป, ยานยนต์, เนื้อสัตว์, อาหารทะเล ฯลฯ และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย ได้แก่ ข้าว, นมและผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่ม

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวโดยอาจใช้กลยุทธ์ 4P เพื่อปรับตัวรับมือกับสงครามการค้าครั้งนี้ โดยต้อง 1) Product พัฒนาสินค้าให้ตอบความตลาด 2) Places กระจายตลาดส่งออกให้หลากหลาย พึ่งพิงตลาดในประเทศให้มากขึ้น 3) Preparedness เพิ่มกลไกบริหารความเสี่ยง และดูเรื่องสภาพคล่องรวมถึง balance sheet อย่างต่อเนื่อง 4) Productivity เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และมองหาพันธมิตรมาช่วยเหลือ
ภาพ: SCB EIC, tawatchai07 on Freepik
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : หลังทรัมป์ประกาศ ‘Liberation Day’ ทำ SET Index ร่วง 8.4% ตลท. จับตาใกล้ชิดย้ำมีเครื่องมือพร้อมดูแล
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine