เมื่อรัฐตั้งเป้าลดหนี้ครัวเรือน แต่ SCB EIC ชี้การทำ Debt deleveraging รอบนี้อาจท้าทายขึ้นเพราะเศรษฐกิจชะลอ-คนรายได้ยังไม่ฟื้น - Forbes Thailand

เมื่อรัฐตั้งเป้าลดหนี้ครัวเรือน แต่ SCB EIC ชี้การทำ Debt deleveraging รอบนี้อาจท้าทายขึ้นเพราะเศรษฐกิจชะลอ-คนรายได้ยังไม่ฟื้น

ช่วงที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนไทยกลายเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะหลังจากวิกฤต COVID-19 ล่าสุดที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยพุ่งขึ้นเร็ว และติดอันดับต้นๆ ของโลก ทว่าแม้ในไตรมาส 2 ปี 2567 นี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือต่อ GDP เริ่มลดลงต่อเนื่องมาต่ำกว่า 90% แต่จะเป็นการลดลงต่อเนื่องหรือไม่ และกระบวนการ Debt deleveraging ที่เกิดขึ้นควรดำเนินการอย่างไรให้ไม่ส่งผลกระทบในระยะยาว


    ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า กระบวนการ Debt deleveraging หรือสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ทยอยปรับลดลงนั้น เป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยลดความเปราะบางทางการเงินให้แก่ภาคครัวเรือนจากการบรรเทาปัญหาหนี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างยั่งยืน

    โดย Debt deleveraging รอบนี้เริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น โดย ณ ไตรมาส 2 ปี 2567 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องจากสิ้นปี 2566 ที่ 91.4% เหลือ 89.6% ถือว่าต่ำสุดตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19


    แต่สาเหตุที่ปรับลดลงในครั้งนี้ มาจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนขยายตัวต่ำเป็นประวัติการณ์เป็นหลัก ตามความเสี่ยงของลูกหนี้รายย่อยที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งภาคครัวเรือนมีความเปราะบางสูงขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำ และกลุ่มรายได้ปานกลาง จนทำให้เห็นการอนุมัติสินเชื่อใหม่ลดลง ดังนั้นหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวลดลงอาจไม่ได้มาจากการชำระคืนหนี้เก่าได้มาก

    อีกทั้งเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่เติบโตต่ำลงมาก ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้าไปด้วย จึงทำให้ภาวะนี้ต่างจากในอดีตที่กระบวนการ Deleveraging เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง การลดหนี้ครัวเรือนไทยในรอบนี้จึงเป็นเรื่องยากมากยิ่งขึ้น

    ดังนั้น แม้ Debt deleveraging ในเชิงตัวเลขเหมือนจะคืบหน้า (คือสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ลดลง) แต่อาจไม่ช่วยปลดล็อกครัวเรือนจากปัญหาหนี้ เพราะหากสถานการณ์ตัวเลขหนี้ครัวเรือนและตัวเลข GDP ไทยขยายตัวต่ำทั้งคู่ยังคงดำเนินต่อไป อาจเห็นผลลบต่อการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนในอนาคตตามมา ยิ่งจะทำให้การใช้คืนหนี้เดิมทำได้ยากขึ้น



    อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยในปัจจุบัน SCB EIC มองว่า กระบวนการลดหนี้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคครัวเรือนโดยรวม จะต้องช่วยลดภาระหนี้ในระดับแต่ละครัวเรือนได้ ผ่าน 2 แนวทางปลดล็อกครัวเรือนจากปัญหาหนี้ และเอื้อให้เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้ แบ่งเป็น

    1) กระบวนการแก้ไขหนี้เดิมต้องครอบคลุมและตอบโจทย์ครัวเรือนที่มีปัญหาต่างกัน การสนับสนุนให้ครัวเรือนจัดการหนี้เดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีกระบวนการแก้หนี้เดิมที่ครอบคลุมครัวเรือนที่กำลังมีปัญหาหนี้ให้ได้มากที่สุด ตอบโจทย์ปัญหาหนี้และความต้องการแก้หนี้ที่แตกต่างกันได้

    ทั้งนี้ กระบวนการแก้หนี้เดิม จะต้องออกแบบให้ครอบคลุมทั้งครัวเรือนในระบบและภาคเศรษฐกิจนอกระบบ หรือครัวเรือนที่ไม่มีประวัติเครดิตในระบบ รวมถึงต้องตอบโจทย์ครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้ต่างกัน โดยต้องโฟกัสใน 3 ส่วนคือ เงื่อนไขโครงการ, ประเภทเจ้าหนี้ และสร้างการรับรู้และการเข้าถึงโครงการต่างๆ ให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังต้องเจาะลึกถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ในแต่ละกลุ่ม ในความสำคัญกับความซับซ้อนของปัญหาหนี้ครัวเรือนบางกลุ่มเช่น อาจมีเจ้าหนี้หลายราย หรือมีหนี้หลายประเภท และการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อให้ลูกหนี้ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น

    2) นโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องช่วยสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวในอนาคต

    การแก้หนี้เดิมของครัวเรือนให้ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งต้องอาศัยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคช่วยประคองเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวเพียงพอกับรายจ่าย ด้านนโยบายการคลังไทยเริ่มมีพื้นที่การคลังจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเจาะจงครัวเรือนเปราะบาง ด้านนโยบายการเงินต้องเอื้อให้เกิดการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน โดยสามารถผ่อนคลายเพิ่มได้ (มองว่าจะไม่ได้กระตุ้นการก่อหนี้เหมือนในอดีตซึ่งเศรษฐกิจเติบโตร้อนแรง) หากจำเป็นต้องลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำลงอีก จนกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนตามมา



ภาพ: SCB EIC



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ไทยพาณิชย์ ชู “เริ่ม เพื่อ รอด” เปลี่ยนสู่ความยั่งยืน ให้สินเชื่อดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ตั้งเป้าปีนี้ SME มีสินเชื่อใหม่ ESG รวม 3,000 ล้าน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine