กรณีศึกษา ‘ความยั่งยืน’ กับกลยุทธ์ธุรกิจของไทยพาณิชย์ - Forbes Thailand

กรณีศึกษา ‘ความยั่งยืน’ กับกลยุทธ์ธุรกิจของไทยพาณิชย์

กระแสความยั่งยืนกลายเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งไม่ใช่แค่การรักษาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่กลายเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว ดังนั้นภาคธุรกิจการเงินเป็นอีกอุตสาหกรรมที่ถูกจับตามองว่าจะเปลี่ยนได้เร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ส่วนหนึ่งอาจเพราะลักษณะทางธุรกิจที่ไม่ได้มีทรัพย์สิน กระบวนการผลิต หรือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น แต่การเปลี่ยนผ่านองค์กรที่มีอายุกว่าร้อยปีให้ ‘ยั่งยืน’ ยิ่งกว่าเดิม ยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และธนาคารไทยพาณิชย์จึงต้องร่างเป้าหมายและเริ่มวางกลยุทธ์ที่ชัดเจนตั้งแต่วันนี้


    ล่าสุด การเร่งเครื่องเรื่องความยั่งยืนของ ‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ ที่อยู่ภายใต้ยานแม่อย่าง SCBX (ที่ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ในช่วงที่ผ่านมา) ได้ประกาศเป้าหมายการดำเนินงานที่จะปรับตัวรับกับความท้าทายในทุกด้าน

สร้างความยั่งยืนต้องเริ่มจากกลยุทธ์ที่ชัดเจน

    “กฤษณ์ จันทโนทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายใหม่ ทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อภาวะโลกร้อนทำให้การดำเนินธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับทิศทางสังคมคาร์บอนต่ำด้วยการปรับนโยบายและกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน

    ไทยพาณิชย์ยังคงกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ที่ทำมาตลอด 3 ปี และประกาศแนวคิด “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” เพื่อใช้ในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในทุกฝ่าย ด้วยจุดตั้งต้นของธนาคารในการให้สินเชื่อจะต้องกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ (Responsible lending) ผ่านการปรับใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นได้วางเป้าหมาย 3 ระยะ

    1) สินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนจำนวน 150,000 ล้านบาท ภายใน ปี 2025 (ปี 2023 ถึง ไตรมาส 2/2024 ให้สินเชื่อแล้วกว่า 1.11 แสนล้านบาท)

    2) ปรับการดำเนินงานองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี 2030

    3) ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและการลงทุนตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ (SBTi) ด้วยแผนการเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อทั้ง 2.3 ล้านล้านบาทสู่พอร์ตสินเชื่อสีเขียว


    ทั้งนี้ การจะทำตามเป้าหมายที่วางไว้ ธนาคารจึงวางกรอบการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 แกน ได้แก่

    1) Sustainable Banking สนับสนุนการเงินยั่งยืนแก่ลูกค้า ตามเป้าหมาย 150,000 ล้านบาทในปี 2025
    2) Corporate Practice Excellence โดยพัฒนาทั้งบุคคลและองค์กรตามยุทธวิธี AI-First Bank
    3) Better Society พัฒนาสังคมที่ดียิ่งขึ้นผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ

การปรับใช้เป้าหมาย Net Zero กับธุรกิจสินเชื่อและการลงทุน

    ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ เล่าว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนต้องไปด้วยกันทั้งระบบ ดังนั้นธนาคารจะสร้างระบบนิเวศน์ให้พันธมิตรต่างๆ เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนไปพร้อมกับเดินหน้าธุรกิจ โดยวางกลยุทธ์ ไว้ 3 ด้าน

    1) การบริหารพอร์ตสินเชื่อของธนาคารให้สอดคล้องกับ Net Zero Target ด้วยการวางแผนกลยุทธ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มลูกค้ารายอุตสาหกรรม เช่น
    ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ไทยพาณิชย์มีสินเชื่อโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของไทย มูลค่ากว่า 1.98 แสนล้านบาท (ปี 2011 ถึงปัจจุบัน) คิดเป็นสัดส่วน 61% ของพอร์ตโรงไฟฟ้าของธนาคาร หลังจากนี้ธนาคารจะยังคงเพิ่มวงเงินสินเชื่อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งต่อลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่องและทยอยลดสินเชื่อคงค้างพลังงานถ่านหิน และไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่การขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน
    กลุ่มธุรกิจอื่นๆ จะมุ่งสนับสนุนสินเชื่อลูกค้าที่ประกาศเป้าหมายชัดเจนในการลดก๊าซเรือนกระจก (ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ) โดยใช้วิธี Implied Temperature Rise (ITR) ตามกรอบ SBTi ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าลูกค้ามีการปรับตัวและตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับบริบทของลูกค้าแต่ละรายยิ่งขึ้น


    2) สนับสนุนลูกค้าทุกกลุ่มตลอดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ รวมถึง Technical Solutions ที่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกขนาด เช่น

    ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ อย่าง สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) โดยอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกหรือเป้าหมายด้านความยั่งยืน ฯลฯ สินเชื่อโครงการพลังงานทดแทน เงินฝากยั่งยืน (Sustainable Deposit) เป็นต้น

    ลูกค้าเอสเอ็มอี อาทิ สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจสำหรับธุรกิจโรงแรม สินเชื่อลดฝุ่น PM 2.5 ในภาคธุรกิจอ้อยและน้ำตาล การจัดงานสัมมนาความรู้ต่างๆ

    ลูกค้าบุคคล เช่น สินเชื่อเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งพัฒนาช่องทางดิจิทัลของธนาคารให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนผ่าน SCB EASY เป็นต้น

    และสุดท้าย 3) การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมตามหลักการ Equator Principles (EP) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผลักดัน ‘การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ’ สู่ ‘การยกระดับการเงินที่ยั่งยืน’ เพื่อช่วยลูกค้าลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ และเพื่อผลักดันการสนับสนุนแก่ลูกค้าและสังคมไปสู่เป้าหมายนี้ ทางธนาคารเริ่มนำ Equator Principles (EP) ซึ่งเป็นกรอบการบริหารความเสี่ยงสำหรับสถาบันการเงินตามมาตรฐานสากล Best Practices มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กับการให้สินเชื่อในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการประเมินโครงการตามหลักการ EP ไปแล้วทั้งสิ้น 53 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกว่า 75,500 ล้านบาท

    


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : UOB ปรับพอร์ตสินเชื่อเน้นยั่งยืน เปิดผลสำรวจบริษัทไทยเจ็บจากเงินเฟ้อสูง แต่ยังสนใจลงทุนต่างประเทศ

​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine