SCB EIC หั่นคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2567 นี้เหลือ 2.5% เพราะแรงส่งแผ่วลงทั้งการส่งออก ภาคการผลิตเผชิญภาวะสินค้าจีนตีตลาด และครัวเรือนที่ยังเปราะบาง กว่า 70% ของผู้บริโภคมีเงินสำรองฉุกเฉินไม่ถึง 3 เดือน
สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือเพียง 2.5% (จากช่วงก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 2.7%)
แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแรงส่งจากภาคบริการตามการฟื้นตัวได้ดีของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการออกมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเติม ทั้งมาตรการฟรีวีซ่าและ VOA รวมถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการท่องเที่ยวในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองของภาครัฐ แต่ยังมีแรงกดดันจาก 3 ส่วน ได้แก่
1) การส่งออกสินค้าที่จะขยายตัวจำกัด ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวไม่สอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเหล็ก ผลไม้ และ HDD ที่จะหดตัวในปีนี้
2) ภาคการผลิตที่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงกดดันทั้งปัจจัยภายนอกจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดเนื่องจากจีนมีปัญหา Overcapacity ในประเทศ รวมถึงปัจจัยภายในจากอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณแผ่วลง
3) การลงทุนภาครัฐที่แม้จะกลับมาเร่งตัวจากการเร่งรัดเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ล่าช้ากว่าครึ่งปี แต่จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้ สำหรับในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องที่ 2.9% ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเป็นปกติมองไปข้างหน้า
ที่สำคัญเศรษฐกิจไทยเผชิญความเปราะบางมากขึ้นทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดย
1) ภาคครัวเรือน กลุ่มคนรายได้น้อยขาดกันชนทางการเงินที่เพียงพอในระยะข้างหน้า จากผลการสำรวจ SCB EIC Consumer survey (พ.ค. 2566) พบว่า
- ผู้บริโภค 70% มีเงินสำรองฉุกเฉินไม่ถึง 3 เดือนโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือนซึ่งเกือบทั้งหมดไม่มีเงินสำรองส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานอายุ 31 ถึง 40 ปีเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน/ประกอบอาชีพอิสระ
- กลุ่มคนที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือนมากกว่า 1 ใน 3 ไม่มีประกันชนิดใดเลยจึงเป็นความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดสะท้อนความเปราะบางสูงของผู้บริโภคกลุ่มนี้
2) ภาคธุรกิจ แม้โดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่บางกลุ่มยังเปราะบางค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีหนี้สูงมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาโครงสร้างของภาคการผลิตไทย SCB EIC ประเมินว่า แม้จะมีมาตรการการเงินเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางภาคครัวเรือนและธุรกิจมากขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลากว่ามาตรการจะเห็นผลในวงกว้าง
ในด้านนโยบายการเงิน ท่ามกลางเหล่าธนาคารกลางหลักหลายแห่งเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง SCB EIC มีมุมมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปี 2567 เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปี 2568 จากแรงส่งอุปสงค์ในประเทศในระยะข้างหน้าที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากฐานะครัวเรือนที่ยังเปราะบางและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ รวมถึงภาวะการเงินตึงตัวที่จะส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น และความเสี่ยงเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวโดยมี GDP ปี 2567 ที่ 2.7% แต่ปัจจัยเสี่ยงในระยะต่อไป ยังคงเป็นเรื่อง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะสร้างความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นในโลก และยิ่งเร่งโลกแบ่งขั้ว (Decoupling) โดยกลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกันจะพึ่งพาการค้ากันลดลง และหันมาพึ่งพาประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง (Neutral stance) มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางของไทย ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมไทย ต้องเร่งปรับตัว โดย ภาคอุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลกระทบต่างกันใน 2 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ เช่น คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ
2) กลุ่มที่มีความเสี่ยงทั้งจากผลกระทบที่สหรัฐฯ หันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งในภูมิภาคมากขึ้น หรือมีการแข่งขันรุนแรงกับประเทศที่เป็นกลางอื่น ๆ เช่น สิ่งทอ และอุปกรณ์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ SCB EIC ยังมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการสนับสนุนเพื่อให้ภาคธุรกิจปรับตัว ได้แก่
1. กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง แต่แข่งขันสูง นโยบายภาครัฐควรเน้นพัฒนาความสามารถในการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวชูจุดแข็งของสินค้าและเจาะตลาดเป้าหมาย รวมถึงวางกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และปรับสินค้าให้ทันเทรนด์โลก
2. กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง และการแข่งขันไม่สูง นโยบายภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่กระจายความเสี่ยง และยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวลดความเสี่ยงจาก Climate change และลงทุนพลังงานหมุนเวียน
3. กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง แต่การแข่งขันไม่สูง นโยบายภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้ดำเนินธุรกิจเดิม แต่ลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิต มุ่งตลาดส่งออกที่มีอยู่ ขณะที่ภาคธุรกิจควรปรับตัวเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีการผลิตและสร้างความเข้าใจในตลาดขั้วสหรัฐฯ และขั้วจีนเพื่อเข้าถึงความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น
4. กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง และแข่งขันสูง นโยบายภาครัฐควรช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปยังภาคการผลิตที่มีศักยภาพในการเติบโตบนห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้ ขณะที่ภาคธุรกิจควรเร่งปรับตัวสู่ห่วงโซ่การผลิตใหม่และหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีสนับสนุน
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เปิดวิสัยทัศน์ ‘ณะรงค์ศักดิ์’ ซีอีโอใหม่ PTTGC เดินหน้ากลยุทธ์ 3 Steps Plus เร่งปรับพอร์ตธุรกิจ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine