ในประเทศไทยธุรกิจประกันชีวิตเติบโตขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังมีกลุ่มลูกค้าคนไทยที่เลือกจะบินไปต่างประเทศเพื่อซื้อประกันชีวิต ส่วนหนึ่งเพราะโซลูชันที่ตอบโจทย์ และเบี้ยประกันภัยที่ราคาคุ้มค่า ในแต่ละปีอาจสูงถึงหลักหมื่นล้านบาท นี่กลายเป็นอีกโจทย์ที่ธุรกิจประกันชีวิตจะตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้
บัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ พรูเด็นเชียล ประเทศไทย กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งหรือ High-Net-Worth (HNW) ในไทยยังเติบโตขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 10.3% ต่อปี ในแง่จำนวนกลุ่ม HNW ของไทยใน 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 124,000 คน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ราว 100,000 คน
ส่วนหนึ่งเพราะเข้าสู่ยุคการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งรวมแล้วมูลค่าหลายล้านบาท ดังนั้นการวางแผนการส่งต่อมรดกจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ประกันชีวิตเข้ามาช่วยตอบโจทย์ได้มากขึ้น เช่น หากทำประกันชีวิตเมื่อระบุผู้รับประโยชน์เรียบร้อยแล้ว กรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ผลประโยชน์จะส่งไปถูกคนในจำนวนเงินที่ต้องการ อีกทั้งยังลดภาระทางภาษี เป็นต้น
ที่ผ่านมา จากพฤติกรรมของกลุ่ม HNW ที่ต้องการทุนเอาประกันขนาดใหญ่ (เช่น 10 ล้านบาทขึ้นไป) ส่วนใหญ่มักเดินทางหรือไปเลือกซื้อประกันฯ ในต่างประเทศ เพราะมีโซลูชันที่ตอบโจทย์ เช่น ซื้อหรือรับผลประโยชน์ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือเบี้ยประกันภัยที่ราคาถูกกว่าซื้อในไทย
ในแต่ละปีคนกลุ่มนี้ที่ออกไปซื้อประกันในต่างประเทศอาจมีเบี้ยปีแรกไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ
ดังนั้นปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงเปิดตัว PRULegacy บริการองค์รวมที่ช่วยวางแผนส่งต่อความมั่งคั่งที่ยั่งยืน ล่าสุดกลางเดือน มี.ค. 68 ร่วมกับธนาคารทหารไทยธนชาติ (ทีทีบี) และธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “ประกันชีวิตเพื่อการส่งต่อมรดก ทีทีบี อัลติเมท เลกาซี 99/3” และ “ยูโอบี บียอนด์ เลกาซี 3/99”
ทั้งนี้ แบบประกันดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อออกแบบประกันนี้ให้เบี้ยประกันภัยถูกลงโดยเฉพาะทุนเอาประกันขนาดใหญ่ เช่น เบี้ยประกันเริ่มต้น 1 ล้านบาท ทุนเอาประกันภัยเริ่มต้นที่ 10 ล้านบาท ทั้งนี้ทุนเอาประกันจะอยู่ที่ 2 - 4 เท่าของเบี้ยที่จ่ายเข้ามาขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอายุ
อีกทั้งยังเชื่อว่า PRULegacy จะตอบสนองความต้องการของกลุ่ม HNW ได้ดี สะท้อนจากแบบประกันภายใต้ PRULegacy ที่เปิดตัวมา 2 เดือนมีเบี้ยประกันฯ เข้ามาบริษัทฯ แล้ว 200-300 ล้านบาท ซึ่งภายในสิ้นปีนี้จะขยายผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ในธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และช่องทางตัวแทน
“ในด้านการบริหารความเสี่ยงของกลุ่ม HNW เมื่อทุนเอาประกันมีขนาดใหญ่ บริษัทฯ จะมีการส่งต่อหรือ Reinsurance ค่อนข้างมากเพื่อกระจายความเสี่ยง”
ในอนาคตยังหวังว่า หากภาครัฐมีการปลดล็อกโดยเปิดกว้างให้ขายประกันที่เป็นเงินตราต่างประเทศ (มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องบริหารมากขึ้นเช่นกัน) เชื่อว่าจะสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กลุ่ม HNW ได้ดียิ่งขึ้น โดยมีการผลักดันข้อเสนอนี้ใน พ.ร.บ. ประกันชีวิตฉบับล่าสุด ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้สอดคล้องกับการเป็น Financial Hub ที่รัฐบาลมีแนวนโยบายอยู่
อย่างไรก็ตาม PRULegacy เป็นบริการที่จะดูแลลูกค้ากลุ่ม HNW แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ PRULegacy จ่ายเบี้ยประกันภัยปีละ 1 ล้านบาท (มีจำนวนราว 7,000 คน) และ PRULegacy+ (Plus) มีเบี้ยฯ 10 ล้านบาทขึ้นไป (มีจำนวนหลักร้อยคน) ที่เพิ่งเปิดขึ้นในปี 2568 คาดว่าสิ้นปีนี้ฐานลูกค้า PRULegacy จะเพิ่มขึ้นสู่ 10,000 คน จากปัจจุบันอยู่ที่ 7,700 คน
ส่วนแผน 5 ปีข้างหน้า (2568-2572) คาดว่าจะขยายช่องทางตัวแทนเพิ่มขึ้น 10 เท่า จากปัจจุบันที่มีจำนวนตัวแทน 1,200 คน และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเบี้ยปีแรกจากช่องทางตัวแทนขึ้นเป็น 10% จากปัจจุบันที่ยังมีสัดส่วนไม่สูงมาก เพราะสัดส่วนหลักกว่า 90% ยังมาจากช่องทางแบงก์เอสชัวรันส์ (ช่องทางการขายผ่านธนาคาร)
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานปี 2567 ของพรูเด็นเชียล ประเทศไทย มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 37,774 ล้านบาท เติบโต 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมีเบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวณรายปี (APE) อยู่ที่ 10,876 ล้านบาท เติบโต 27%YoY
ภาพ: พรูเด็นเชียล ประเทศไทย, ออกแบบภาพปกโดย ธัญวดี นิรุติศาสตร์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กรุงศรี เสริมแกร่งธุรกิจขนาดใหญ่รับมือความไม่แน่นอน ยกระดับโซลูชันการเงิน ตั้งเป้าสินเชื่อโต 5-7%
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine