บมจ. ปลูกผักเพราะรักแม่ หรือ OKJ เจ้าของร้านอาหารโอ้กะจู๋ หลังนำหุ้น IPO เข้าซื้อขายวันแรกใน SET เมื่อ 4 ต.ค. 67 ราคาหุ้นพุ่งขึ้นกว่า 50% ทะลุ 10.40 บาทต่อหุ้น (จากราคาเสนอขายที่ 6.70 บาทต่อหุ้น) เตรียมใช้เงินระดมทุนขยายธุรกิจ พัฒนาระบบปลูกเพิ่มกำลังการผลิต 3 เท่า คาดปี 2571 มี 150 สาขา พร้อมออกแบรนด์และผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อเนื่อง อีก 2 ปี อาจเล็งขยายสู่ต่างประเทศ
นายชลากร เอกชัยพัฒนกุล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) หรือ OKJ กล่าวว่า วันนี้บริษัทฯ ได้นำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมวดเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร / อาหารและเครื่องดื่ม ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน
ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการระขยายการลงทุนธุรกิจราว 75% และอีกราว 20% จะลงทุนเพื่อพัฒนาฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิตผักต่างๆ ได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ราว 800,000 กิโลกรัมต่อปี จะเพิ่มขึ้น 3 เท่า (ราว 2.4 ล้านกิโลกรัม) นอกจากนี้ คาดว่า ในปี 2571 จะมีสาขาทั้งร้านอาหารโอ้กะจู๋ และแบรนด์ใหม่ Oh! Juice และ Ohkajhu Wrap & Roll รวมกว่า 150 สาขา ได้แก่
- แบรนด์ โอ้กะจู๋ เป็น 67 สาขา (ปัจจุบัน 37 สาขา)
- แบรนด์ Ohkajhu Wrap & Roll เป็น 20 สาขา (ปัจจุบัน 1 สาขา)
- แบรนด์ Oh! Juice เป็น 70 สาขา (จากปัจจุบัน 8 สาขา)
ทั้งนี้ การขยายสาขาสู่พื้นที่ใหม่ๆ จะมีทั้งการเปิดสาขาแบบ Stand-alone และการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรหลักอย่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ภายในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เช่น การจำหน่ายสลัดพร้อมทานและอื่นๆ ผ่านร้าน Cafe Amazon นอกจากนี้ OKJ ยังมีแผนในการเพิ่มบริการด้านอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอื่น ๆ เช่น การจำหน่ายและบริการวางแผนมื้ออาหาร (Meal plan) และการจัดเลี้ยง (Catering) ซึ่งตอบโจทย์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง และความนิยมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น
ในภาพรวม 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2571 เชื่อว่ารายได้รวมของ OKJ จะยังเติบโตต่อเนื่องสอดคล้องกับช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่ารายได้จากธุรกิจใหม่ (เช่น แบรนด์ Ohkajhu Wrap & Roll และ Oh! Juice) จะมีสัดส่วนต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 25% จากปัจจุบันที่รายได้หลักยังมาจากแบรนด์ โอ้กะจู๋ กว่า 95% และในช่วง 2 ปีข้างหน้าหากการขยายธุรกิจในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องอาจพิจารณาถึงการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติม
ขณะที่ความท้าทายของธุรกิจที่ต้องเร่งปรับตัว คือ ด้านพนักงาน โดยทางบริษัทเริ่มสร้างระบบการ Training ภายในอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างมาตรฐานในการให้บริการทุกสาขา ส่วนด้านต้นทุน แม้ปัจจัยภายนอกที่อาจกระทบต่อราคาผลิตภัณฑ์ แต่ทางบริษัทมีการ Re-engineering เมนูอาหารทุก 6 เดือน รวมถึงมีการปรับราคาปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีการออกเมนูใหม่ทุกๆ 2 เดือน รวมถึงมีโปรโมชั่นเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่อยู่เสมอ
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ครึ่งปี 67 ‘การบินไทย’ กำไร 2,273 ล้านบาท เตรียมยื่นขอยกเลิกฟื้นฟูกิจการ กลับมาซื้อขายในตลาดฯ ใน Q2/68
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine