คปภ. เชื่อภายใน 2 ปี เบี้ยประกันภัยไทยทะลุ 1 ล้านล้านบาท ส่วนปี 68 คาดอยู่ที่ 9.8 แสนล้าน โต 3.9% - Forbes Thailand

คปภ. เชื่อภายใน 2 ปี เบี้ยประกันภัยไทยทะลุ 1 ล้านล้านบาท ส่วนปี 68 คาดอยู่ที่ 9.8 แสนล้าน โต 3.9%

คปภ. เผยแนวโน้มธุรกิจประกันภัยไทย คาดปี 2569 เบี้ยประกันภัยทะลุ 1 ล้านล้านบาท ผลจากประกันภัยสุขภาพโตต่อเนื่อง ส่วนปี 68 คาดเบี้ยรับตรงอยู่ที่ 9.8 แสนล้าน โต 3.9%YoY ขณะที่แผนงานปีหน้าเร่งติดตามจ่ายหนี้กองทุนประกันวินาศภัย - คุมเคลมประกันสุขภาพ อาจเพิ่ม Copayment ในบางกลุ่ม


    นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจประกันภัยในปี 2568 (ม.ค.-ธ.ค.2568) ได้ประมาณการว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 980,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่วนในปี 2569 คาดว่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงทั้งระบบน่าจะถึงระดับ 1,000,000 ล้านบาท

    ในด้านความเสี่ยงและความท้าทาย คปภ. มองว่าปัจจุบันมีทั้งความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อระดับอัตราดอกเบี้ย (Yield Curve) ที่ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีทิศทางที่ปรับสูงขึ้นแต่ยังต้องมีความระมัดระวังในการเลือกลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท รวมทั้งสงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อและอำนาจซื้อของประชาชน ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มชะลอการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน โดยภาคธุรกิจต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทประกันภัยไปตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที


    ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจประกันภัยปี 2567 นี้พบว่า ประกันภัยสุขภาพเติบโตอย่างโดดเด่น คาดว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงที่ 100,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2568 แต่จากแนวโน้มเบี้ยประกันภัยสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น และค่ารักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็นทางการแพทย์ โดยคปภ. เร่งหารือกับภาคธุรกิจเพื่อหาแนวทางควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลให้เหมาะสม

    โดยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment-ผู้เอาประกันภัยจ่ายเงินส่วนหนึ่งเพื่อเคลม) ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย (Renewal) หากผู้เอาประกันภัยมีการเคลมเกินความจำเป็นทางการแพทย์ หรือมีการเคลมด้วยกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป และมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัย แต่ละรายในรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ 200% ของเบี้ยประกันภัย

    นอกจากนี้ คปภ. ได้ดำเนินการเพื่อรองรับกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เช่น การบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 เชื่อว่าจะช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพงบการเงินได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

    ขณะที่กรณีกองทุนประกันวินาศภัย คปภ. อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกัน โดยกองทุนฯ ได้พยายามหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เช่น การกู้ยืมเงิน และอยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อเข้ามาช่วยวิเคราะห์แนวทางการบริหารจัดการการชำระหนี้ของกองทุนฯ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้พบว่า ยื่นคำทวงหนี้ต่อกองทุนฯ ประกันวินาศภัยในกรณีของบมจ. สินมั่นคงประกันภัย ที่สิ้นสุดการยื่นคำทวงหนี้ไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 พบว่า มีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องเข้ามาประมาณ 250,000 ราย และมีมูลหนี้ที่ต้องชำระประมาณ 22,000 ล้านบาท โดยกองทุนฯ มีรายได้จากเงินสมทบปีละประมาณ 1,400 ล้านบาท

    ส่วนกรณีประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า สำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะอนุมัติให้โดยเร็ว แต่บริษัทประกันภัยที่ยื่นขออนุมัติต้องมีการดำเนินการควบคุมความเสี่ยงเพื่อให้สำนักงาน คปภ. มั่นใจว่ามีการบริหารจัดการ ตั้งแต่กระบวนการการเสนอขาย การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน การบริหารความเสี่ยง และการจัดการเรื่องร้องเรียน ฯลฯ และแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยจากบริษัทหรือตัวแทนนายหน้าขายประกันภัยต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย



ภาพ: คปภ.



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เมื่อรัฐตั้งเป้าลดหนี้ครัวเรือน แต่ SCB EIC ชี้การทำ Debt deleveraging รอบนี้อาจท้าทายขึ้นเพราะเศรษฐกิจชะลอ-คนรายได้ยังไม่ฟื้น

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine