ท่ามกลางกระแสว่าโครงการ Digital Wallet หรือการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยอาจได้รับผลกระทบจากกรณีการพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน แน่นอนว่ายังต้องรอความชัดเจนจากนายกฯ และทีมคณะรัฐมนตรีใหม่ของ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ว่านโยบายที่จะใช้เม็ดเงิน 450,000 ล้านบาทนี้จะเดินหน้าอย่างไร
Forbes Thailand ชวนมาอ่านมุมมองของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ หน่วยงานที่เปรียบเหมือนมันสมองของประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของภาครัฐว่ามีมุมมองต่อกระแสนี้อย่างไร
ถ้าไม่มี Digital Wallet รัฐบาลจะเดินหน้าทางไหน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า โครงการ Digital Wallet ขึ้นอยู่กับนายกฯ และคณะรัฐมนตรีว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างไร แต่ถ้าพูดถึงกรณีที่ Digital Wallet จะไม่ดำเนินการ คิดว่าภาครัฐต้องออกมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจไทย และช่วยเหลือประชาชนในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
แต่หากจะมีมาตรการอื่นทดแทน จะมุ่งเป้าไปในทิศทางใด คงต้องมาดูทรัพยากร และเครื่องไม้เครื่องมือโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ว่าจะใช้มาตรการลักษณะไหนมาทำให้การทำงานได้เร็วขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะทำหรือไม่ทำโครงการ Digital Wallet
“การมีของงบประมาณ (สำหรับโครงการ Digital Wallet ในปีงบฯ 67 และ 68) ถือเป็นการเตรียมการจากรัฐบาลก่อนหน้า ก็ต้องมาดูว่าแผนการของรัฐมนตรีแพทองธารจะมีนโยบายอย่างไร ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียด” นายดนุชา กล่าว
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ส่วนในประเทศเริ่มเห็นผลกระทบมาที่การลงทุนในประเทศที่ยังติดลบ โดยเฉพาะตัวเลขของภาคเอกชน แม้การลงทุนภาครัฐจะยังติดลบแต่มองว่ายังคงเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะไหน
ดังนั้น ถ้าจะมีมาตรการอื่นเกิดขึ้นคงต้องดูว่าสุดท้ายจะมีมาตรการรูปแบบไหนออกมา ตอนนี้คงยังพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะรัฐบาลใหม่ยังไม่ได้มีการแถลงนโยบาย ส่วนเรื่อง Digital Wallet คงต้องติดตามว่าจะมีการปรับเปลี่ยนในลักษณะไหน เพราะหากดูจากเงื่อนไขของโครงการเดิมจะมี 2 หลัก คือ
1) แหล่งเงินที่จะเข้ามา ซึ่งเข้ามาคนละช่วงเวลาทั้งงบประมาณของปี 67(เพิ่มเติม) ก็มีเงื่อนไขในการใช้จ่าย รวมถึงงบฯ ปี 68 จะออกมาตอนเดือนตุลาคม ต้องดูว่าจะมีผลกระทบอย่างไร
2) ตัวระบบที่ใช้ในโครงการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญว่าขณะนี้ดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังต้องมีการพูดคุยกัน ในระดับนโยบายและถามความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาและรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นมีการรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน
เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะเป็นอย่างไร
ก่อนหน้านี้สภาพัฒน์เคยระบุว่า ผลของโครงการ Digital Wallet หากมาทันให้ประชาชนเริ่มใช้จ่ายในไตรมาส 4/2567 คาดว่าจะส่งผลต่อ GDP ไทยปี 2567 ให้เพิ่มขึ้นราว 0.25% แต่ล่าสุดยังไม่ได้อัพเดทว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ได้เปิดเผยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหรือ GDP พบว่า ไตรมาสที่สองของปี 2567 ขยายตัว 2.3% ถือว่าเร่งขึ้นจากไตรมาส 1 ที่โต 1.6% (หากเทียบการขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าจะอยู่ที่ 0.8%QoQ) ภาพรวมเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทั้งการส่งออก การบริโภคภาคเอกชน การอุปโภคภาครัฐยังเติบโต แต่การลงทุนรวมยังติดลบที่ 6.2% โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ติดลบ 6.8%
ขณะที่ครึ่งปีแรก 2567 GDP อยู่ที่ 1.9% และ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2567 หนี้สาธารณะต่อ GDP มีมูลค่า 11.54 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.5% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม คาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวที่ 2.3 – 2.8% (ค่ากลาง 2.5%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก
1) ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
2) การอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่จะขยายตัว 4.5%
3) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น
4) การส่งออกสินค้าที่จะขยายตัวอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของการค้าโลก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 2.0%
ทั้งนี้ ภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 0.3% (ปรับลดลงจาก 3.2%) ส่วนการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะลดลง 0.7% (ปรับลดลงจาก 1.8%) อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.4 - 0.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์มองว่าในช่วงที่เหลือของปี ยังต้องให้ความสำคัญกับการรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความต่อเนื่องของกระบวนการงบประมาณ การเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุนภาครัฐได้อย่างต่อเนื่อง ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน นอกจากนี้ต้องปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการทุ่มตลาด ฯลฯ รวมถึงต้องติดตามปัจจัยนอกประเทศ เช่น ความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ที่มีแนวโน้มของความรุนแรงเพิ่มขึ้น
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เปิดพอร์ตหุ้นพันล้านของ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของไทย
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine