‘สภาพัฒน์’ เผยแม้ Digital wallet อาจมาทันปลายปี แต่ยังหั่นเป้า GDP ปี 67 เหลือ 2 - 3% - Forbes Thailand

‘สภาพัฒน์’ เผยแม้ Digital wallet อาจมาทันปลายปี แต่ยังหั่นเป้า GDP ปี 67 เหลือ 2 - 3%

สภาพัฒน์หั่นคาดการณ์ GDP ไทยปี 67 2.0-3.0% จากเดิมที่ 2.2-3.2% สาเหตุเพราะ ‘การผลิตภาคอุตสาหกรรม - ส่งออกยังแย่’ เผยแม้โครงการฯ Digital wallet อาจทันปลายปีนี้ แต่จะใช้จ่ายได้บางส่วนราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเพิ่ม GDP ไทยที่ 0.25% จับตาการเบิกจ่ายภาครัฐ หนี้ครัวเรือน สถานการณ์หนี้เสีย ‘รถ - บ้าน - Ploan’


    นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลงมาสู่ระดับ 2.0 - 3.0% (ค่ากลางที่ 2.5%) จากก่อนหน้า (19 ก.พ.) ที่คาดการณ์ไว้ในระดับ 2.2 - 3.2% สาเหตุที่ปรับลดประมาณการลงเนื่องจาก ภาคผลิตอุตสาหกรรม และการส่งออกที่มีสัดส่วนมากต่อ GDP ยังชะลอตัว

    ทั้งนี้ ยังได้ปรับลดมูลค่าการส่งออกของไทยปี 2567 มาอยู่ที่ 285,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.0%) จากเดิมที่ 288,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.9%) เพราะมองว่ายังมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการกีดกันการค้าที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติม

    นอกจากนี้ยังได้ปรับลดประมาณการสำคัญ ได้แก่ การลงทุนรวมเหลือ 1.9% (จากเดิม 2.1%) ดุลการค้าลดลงสู่ 10,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (จากเดิมที่ 13,400 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ปรับลดสู่ 1.2% (จากเดิมที่ 1.4%)

    “แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 67 ทั้งปีที่ 2-3% มองว่าปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัว 1.9% ในปี 66 โดยช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก 1) การเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 2) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง 3) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน และ 4) การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก” นายดนุชา กล่าว

    ในปี 2567 นี้ยังคาดว่า การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% (เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนหน้าที่คาดไว้ 3.0%) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 36.5 ล้านคน จากก่อนหน้าที่อยู่ 35.0 ล้านคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.1 – 1.1% เปลี่ยนแปลงจากครั้งก่อนที่คาดไว้ 0.1 - 1.9%

    อย่างไรก็ตาม ประมาณการ GDP ไทยปี 2567 ที่ 2.5% นี้ยังไม่รวมผลของโครงการ Digital wallet โดยคาดว่าหากเริ่มให้ประชาชนใช้จ่ายภายในไตรมาส 4 ปี 67 คาดว่าช่วยหนุน GDP ไทยได้ราว 0.25% (คำนวนจากเม็ดเงินที่คาดว่าจะออกมาราว 2 แสนล้านบาท) และด้วยระยะเวลาของมาตรการที่ 6 เดือน อาจเห็นผลจากโครงการในช่วงปี 2568 แต่ยังต้องติดตามเงื่อนไขร้านค้า และรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม

    ทั้งนี้ GDP ไทยในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า ขยายตัวที่ 1.5% แม้จะโตต่อเนื่อง แต่ชะลอลงจากไตรมาส 4 ปี 66 ที่ขยายตัว 1.7% โดยยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวที่เติบโต แต่ภาคการเกษตรและหมวดอุตสาหกรรมลดลง ด้านการใช้จ่ายรัฐบาล และการลงทุนรวมลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการ และการบริโภคอุปโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอลง

    ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม 3 ด้าน ได้แก่
    1. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งยังเห็นหนี้เสียและ สินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ(SML) ยังอยู่ในระดับสูงและบางส่วนเพิ่มขึ้น (ทั้งสินเชื่อรถ สินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคล) รวมถึงภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น

    2. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตทางการเกษตร ครึ่งปีแรก 2567 ผลผลิตทางการเกษตรเผชิญกับ ปรากฎการณ์เอลนีโญที่ทำให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติ ขณะที่ช่วงที่เหลือของปีนี้จะเจอกับ ลานีญาที่อาจมีความเสี่ยงน้ำท่วม

    3. ความผันผวนจากเศรษฐกิจโลก ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและอาจปรับลดลงช้ากว่าที่คาด ความขัดแย้งในตะวันออกกลางกระทบกาาเดินเรือที่คลองซูเอซ ให้ค่าระวางเรือเพิ่มส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าทางเรือ และมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจออกมาเพิ่มเติม

    อย่างไรก็ตาม แม้จะเศรษฐกิจจีนยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวกว่าที่คาด แต่ได้ปรับเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมาที่ 2.9% จากก่อนหน้าที่อยู่ 2.7% มาจาก สหรัฐ และจีน ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น

    ช่วงที่เหลือของปีนี้ระบุว่า มี 5 เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่
    1. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เชื่อว่าในเดือน ก.ย. 67 นี้จะเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ได้ไม่ต่ำกว่า 90%

    2. การดูแลสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME (หลังจากก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดดอกเบี้ยในกลุ่มเปราะบางแล้ว)

    3. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตร เช่น การรับมือกรณีเกิดน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตร การพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลเพื่อลดการใช้งบฯ ลง

    4. เร่งเครื่องการส่งออกไทย และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและบริการ

    5. ติดตามและเตรียมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเงินโลก



Photo by Evan Krause on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คนไทยมีหนี้มากแค่ไหน? ไตรมาส 1/67 หนี้เสียกลุ่มไหนเพิ่มขึ้นสูงสุด

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine