สภาพัฒน์ เปิดหนี้ครัวเรือนล่าสุดยังเพิ่มที่ 91.3% เผย 57.9% ของคนไทยมีความรู้ภาษีเงินได้ระดับต่ำ - Forbes Thailand

สภาพัฒน์ เปิดหนี้ครัวเรือนล่าสุดยังเพิ่มที่ 91.3% เผย 57.9% ของคนไทยมีความรู้ภาษีเงินได้ระดับต่ำ

สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไตรมาส 1 ปี 67 พบว่า หนี้ครัวเรือนของไทยล่าสุด (ไตรมาส 4/66) และสถานการณ์หนี้เสียยังเพิ่มขึ้น ด้านแรงงานพบว่า คนมีงานทำลดลงจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลง เผยผลสำรวจฯ กว่า 57.9% ของคนไทยมีความรู้ภาษีเงินได้ฯ ในระดับต่ำ


    สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะสังคมไทย ไตรมาส 1 ปี 67 พบว่า หนี้สินครัวเรือนล่าสุด ณ ไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ 16.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.0% (ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 3.4%)

    ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 91.3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยคุณภาพสินเชื่อด้อยลงในทุกประเภท โดยหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.88% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.79% ในไตรมาสก่อน โดยมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ แนวโน้มหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะสินเชื่อวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท และการช่วยเหลือให้ลูกหนี้เรื้อรังเข้าร่วมมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน

    สถานการณ์แรงงานไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า ผู้มีงานทำมีจำนวน 39.6 ล้านคน ลดลง 0.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงกว่า 5.7% ในช่วงนอกฤดูการทำเกษตรกรรม ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวที่ 2.2% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.6% และสาขาการก่อสร้างที่ขยายตัว 5.0% ทั้งนี้ ผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น 11.6% ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.01% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 410,000 คน

    ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้สรุปผลสำรวจทัศนคติของประชาชนต่อหน้าที่การยื่นแบบฯ และการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกลุ่มประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไป โดยพบว่า 57.9% ของกลุ่มตัวอย่างเป็นคนที่ไม่รู้ข้อมูลเลยถึงมีความรู้ระดับต่ำ โดยในกลุ่มตัวอย่างเพียง 35.7% ที่ยื่นแบบฯ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ และกว่า 80.8% มีสถานะทางการเงินที่รายได้เพียงพอกับรายจ่าย

    ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่าง 50.5% ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ ซึ่งพบว่ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. เป็นแรงงานนอกระบบ มีรายได้เฉลี่ย 12,115 บาทต่อเดือน อีกทั้ง มากกว่าครึ่งมีการใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน หรือมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

    ด้านทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มองว่าระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้ฯ ในปัจจุบันมีความเป็นธรรมในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ จากประเด็นปัญหา เช่น ระบบตรวจสอบที่ไม่ครอบคลุม ทำให้มีผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์บางส่วนไม่ยื่นแบบฯ ผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการหลบเลี่ยงภาษี เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีต่ำเกินไปไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

    ขณะที่ความเต็มใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีของคนไทย พบว่า ราว 70% ของกลุ่มตัวอย่าง เต็มใจที่จะยื่นแบบฯ และเสียภาษี หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ หรือหากได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น/มากขึ้น และ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ทุกคนที่มีรายได้ต้องยื่นแบบฯ โดยไม่ต้องมีเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ

    ทั้งนี้ ปัจจัยที่จูงใจให้คนไทยยื่นแบบฯ พบว่า 1) กลุ่มที่มีการยื่นแบบฯ อยู่แล้ว ให้ความสำคัญกับความสะดวกในการกรอกข้อมูลมากที่สุด ขณะที่ 2) กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ ต้องการให้ไม่ตรวจสอบข้อมูลภาษีย้อนหลัง และไม่ขอเอกสาร/หลักฐานเพิ่มเติม



Photo by Anders J on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สภาพัฒน์เผย คนไทยวัยมีคู่กว่า 40% ยังโสด เหตุ ‘งานหนัก-ไม่เจอคน’ แนะรัฐหนุน Work-life Balance ให้เจอคนที่ใช่

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine