สภาพัฒน์ฯ เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 67 ขยายตัว 3.2% อ่อนแรงจากภาคอุตสาหกรรม-ลงทุนเอกชน ส่วนทั้งปี GDP อยู่ที่ 2.5% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิม ส่วนปี 2568 นี้คาดว่า GDP จะอยู่ที่ 2.3-3.3% จับตาความเสี่ยงมาตรการทางการค้าที่อาจส่งผลกระทบช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งหากรัฐมีเป้า GDP ที่ 3.3-3.5% รัฐต้องอัดมาตรการเพิ่ม
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2567 ขยายตัว 3.2% แม้เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ไม่สูงเหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ จาก 2 ปัจจัย ได้แก่
1. การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวที่ 2.1% โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะตลาดที่มีข้อจำกัด ทั้งความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ตารางก่อน
2. ภาคอุตสาหกรรม ที่แม้จะไม่ติดลบแต่บวกเพียง 0.2% สะท้อนถึงภาคการผลิตที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และภาคการผลิตที่มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ภาพรวมทั้งปี 2567 การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหรือ GDP อยู่ที่ 2.5% (ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.6%) ซึ่งเร่งขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ระดับ 2.0% มีปัจจัยบวกจากด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.4% และการอุปโภคภาครัฐบาลขยายตัว 2.5% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.8% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง 1.6%
ส่วนมูลค่าการส่งออก (ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัว 5.8% ด้านภาคการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัว 9.5% แต่ภาคการผลิดสาขาเกษตรกรรมลดลง 1% การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมติดลบ 0.5%

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2568 สภาพัฒน์ยังคงคาดว่า GDP จะอยู่ที่ 2.3 – 3.3% (ค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ 2.8%) ซึ่งได้คำนวณรวมผลของมาตรการเงินหมื่นดิจิทัล และผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง 2568
“เป้าหมายของรัฐบาลในการที่จะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 3.3 ถึง 3.5% ในช่วงปี 68 ยังต้องมีมาตรการมาเสริมเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องการลงทุน มาตรการกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน และการกระจายเม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐ อาจต้องมีการจัดทำแพ็คเกจการลงทุนเพิ่มเติมเพิ่มเติม” นายดนุชา กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนของเศรษฐกิจไทย ปี 2568 คาดว่ามาจาก
1) การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุน
2) การบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และการลงทุนภาคเอกชนที่น่าจะดีขึ้น
3) ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องยังฟื้นตัวต่อเนื่อง
4) การส่งออกที่ยังฟื้นตัวต่อ
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น เพื่อหาทางรับมือความเสี่ยงอย่างรอบด้าน

Photo by Markus Winkler on Unsplash
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : World Bank มองเศรษฐกิจไทยยังโตต่ำศักยภาพ แม้ปี 68 คาดขยายตัวที่ 2.9%
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine