World Bank มองเศรษฐกิจไทยยังโตต่ำศักยภาพ แม้ปี 68 คาดขยายตัวที่ 2.9% - Forbes Thailand

World Bank มองเศรษฐกิจไทยยังโตต่ำศักยภาพ แม้ปี 68 คาดขยายตัวที่ 2.9%

ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยยังเจอความท้าทายหลายด้าน ล่าสุด World Bank หรือ ธนาคารโลก เปิดเผยรายงานการตามติดเศรษฐกิจไทย Thailand Economic Monitor โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ในปี 2568 จาก 2.6% ในปี 2567 แม้ตัวเลข 2.9% นี้จะต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ต.ค. 67 ที่ 3% แต่มองว่าไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น


    เมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าวว่า จากรายงาน Thailand Economic Monitor เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวที่ 2.9% โดยมีแรงหนุนจากการลงทุนที่ฟื้นตัว ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงขึ้น รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568 และการบริโภคเอกชนที่ยังเป็นแรงหนุนสำคัญ

    ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและ โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล ส่งผลให้อัตราความยากจนลดลงเหลือ 8.2% ในปี 2567 จาก 8.5% ในปี 2566


    อย่างไรก็ตาม แม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยจะดีกว่าที่คาดไว้ แต่ GDP ของไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ควรเป็น โดยมีความท้าทายหลัก คือ

    - การลดระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

    - การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน

    - การเสริมสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ภายใต้สถานการณ์ที่ความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสังคมผู้สูงอายุ

    “ประเทศไทยมี ความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในอนาคต จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการที่กล้าตัดสินใจ การลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต และการสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยจะช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวรับมือกับความท้าทายระดับโลกและเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต” เมลินดา กล่าว


    เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของไทยในการสร้างความยั่งยืนระยะยาว คือ การสร้างความยืดหยุ่นทางการคลังผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน การขยายฐานภาษี รวมถึงการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ส่งเสริมการเติบโตในด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่

    นอกจากนี้ ในรายงานระบุว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นส่วนหลักของเศรษฐกิจไทยเพราะมีสัดส่วน 90% ของธุรกิจในประเทศไทยและเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ แต่ยังต้องเจออุปสรรคทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยี และตลาดต่างประเทศ

    ดังนั้น การพัฒนาสตาร์ทอัพดิจิทัล อาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต แต่ยังต้องรับการปรับปรุงอีกหลายด้านเพื่อเสริมสร้างกรอบการกำกับดูแล โดยเฉพาะในด้านการแข่งขัน การค้า และการลงทุน รวมถึงการขยายการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้



Photo by Anil Nallamotu on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยยอดปิดโรงงานไทยปี 68 เสี่ยงพุ่งต่อเนื่อง โดยเฉพาะ SMEs เหตุเศรษฐกิจแย่-สินค้านอกทะลัก

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine