ออมสิน - BAM ร่วมทุนพันล้านจัดตั้ง ‘ARI-AMC’ รับซื้อหนี้เสียแบงก์รัฐ ประเดิม 45,000 ล้านบาท ตั้งเป้า 2-3 ปี แก้หนี้รายย่อยได้ 70% - Forbes Thailand

ออมสิน - BAM ร่วมทุนพันล้านจัดตั้ง ‘ARI-AMC’ รับซื้อหนี้เสียแบงก์รัฐ ประเดิม 45,000 ล้านบาท ตั้งเป้า 2-3 ปี แก้หนี้รายย่อยได้ 70%

สถานการณ์หนี้เสียของไทยยังเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาครัฐต่างหาทาง ‘จัดการ - ลด - ล้างหนี้’ ให้ประชาชน ล่าสุด ธนาคารออมสินจับมือ BAM ร่วมทุน 1,000 ล้านบาท จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์อารีย์ฯ โดยจะรับซื้อหนี้เสียรายย่อย SMEs และหนี้บัตรเครดิตจากแบงก์รัฐมาบริหาร หวังปลดล็อก หลุดจากภาวะหนี้ล้นพ้นตัว ประเดิม 5 แสนราย มูลหนี้รวม 45,000 ล้านบาท


    นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนในระดับสูงส่งผลกระทบทั้งระดับบุคคลและภาพรวมของเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเกิดจากหลังเกิดวิกฤต COVID-19 ขึ้นผู้ประกอบการรายย่อย SMEs และประชาชนจำนวนมาก ขาดสภาพคล่องไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติจนกลายเป็นหนี้เสีย (NPL)

    ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ โดยธนาคารออมสิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด (ARI-AMC) โดยจะมุ่งช่วยเหลือลูกหนี้ 4 กลุ่ม ได้แก่
    - ลูกหนี้ที่เจอผลกระทบจาก COVID-19
    - กลุ่มมีรายได้ประจำ แต่ภาระหนี้สูงทำให้จ่ายหนี้ได้ไม่ครบถ้วน
    - กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ
    - กลุ่มที่มีหนี้เสียตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

    ขณะเดียวกัน ลูกหนี้ทั้ง 4 กลุ่มนี้ยังมีการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมมาก่อนหน้านี้ เชื่อว่าการร่วมทุนนี้ฯ เมื่อผ่านไป 2-3 ปี จะช่วยจัดการหนี้เสียในระบบลงได้ราว 70% จากหนี้ก้อนแรกที่เข้ามาใน ARI-AMC และช่วยปลดล็อกประชาชนจากการเป็น NPL อย่างไรก็ตามมองว่า หากไม่ทำมาตรการเพิ่มเติมอาจทำให้กลุ่มเฝ้าระวัง อย่าง SM อาจเพิ่มขึ้น


    นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (GSB) กล่าวว่า การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ในรูปแบบกิจการร่วมทุน (JV AMC) ในชื่อ ARI-AMC เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) โดยจะสามารถรับโอนหนี้บางส่วนของ SFIs มาได้ ขณะที่ลูกหนี้ข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้หรือไกล่เกลี่ยหนี้ โดยมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนขึ้น แม้เป็นกิจการเพื่อสังคมแต่ BAM ยังต้องมีกำไรในระดับที่เหมาะสม

    ทั้งนี้ ARI-AMC มีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ทั้ง 2 องค์กรมีสัดส่วนการร่วมทุนเท่ากัน ที่ 50% และมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกินกว่า 15 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการ (ตามเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย) ในระยะแรกจะรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสิน 500,000 บัญชี หรือคิดเป็นมูลหนี้เงินต้นกว่า 45,000 ล้านบาท (คาดว่าสิ้นไตรมาส 3/67) และปี 2568 จะรับซื้อและรับโอนหนี้จาก SFIs อื่นๆ ทั้งนี้ หนี้ส่วนแรกที่จะมีการขายออกจำนวน 140,000 ราย มูลหนี้เงินต้นกว่า 10,000 ล้านบาท

    โดยหนี้ที่ขายออกนี้จะมีทั้งหนี้รายย่อยที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน SMEs รวมถึงหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ที่มีสถานะ NPLs หนี้สูญ รวมถึง NPA (สินทรัพย์รอการขาย) ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ที่ยังไม่ดำเนินคดี และดำเนินคดีแล้ว ที่ยังมีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย โดย ARI-AMC จะรับซื้อหนี้ในราคายุติธรรม ผ่านการจัดจ้างองค์กรภายนอกมาประเมินราคา

    นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า BAM มีบทบาทหลักในการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงิน มีประสบการณ์กว่า 25 ปี โดย ARI-AMC จะใช้พื้นที่สำนักงานที่ BAM ขณะเดียวกันลูกหนี้ยังสามารถติดต่อได้ง่ายผ่านสาขาของ BAM (เกือบ 30 สาขา) และ ธนาคารออมสิน (1,033 สาขา) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ

    ทั้งนี้ ที่ผ่านมา BAM สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ให้ได้ข้อยุติมากกว่า 155,000 ราย คิดเป็นภาระหนี้กว่า 480,000 ล้านบาท และยังสามารถจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายไปกว่า 52,000 รายการ คิดเป็นราคาประเมินกว่า 122,000 ล้านบาท



Photo by Norbert Braun on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คลังพิจารณา ‘ลดเวลา’ เก็บประวัติหนี้เสียค้างในเครดิตบูโรนาน 8 ปี หวังคนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine