กรณีศึกษาตึกสตง. ถล่ม เปิดปม ‘นอเมนี-ฉ้อโกง’ ของไทย นำสู่ DSI และ 8 หน่วยงานเข้าตรวจสอบ - Forbes Thailand

กรณีศึกษาตึกสตง. ถล่ม เปิดปม ‘นอเมนี-ฉ้อโกง’ ของไทย นำสู่ DSI และ 8 หน่วยงานเข้าตรวจสอบ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย จนทำให้ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างพังถล่มลงมา ทว่าโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่มีความสูญเสียมากมายนี้ ยังสะท้อนถึงปัญหานอเมนี และการฉ้อโกงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของไทย


เปิดปมนอเมนีจากจีนในธุรกิจอสังหาฯ ไทย

    ท่ามกลางกระแสข่าวกรณีตึกสตง. ที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมา มีข้อมูลในหลายด้านทั้งบริษัทที่จดทะเบียนทำธุรกิจนั้นแม้จะมีรายชื่อคนไทยในการจัดตั้ง แต่กลับมีข้อสงสัยว่าเป็นการสวมสิทธิ์ในลักษณะนอเมนีให้ธุรกิจจีน ไปจนถึงการก่อสร้างไม่เป็นไปตามมาตรฐานทำให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่นี้ขึ้น

    ล่าสุด นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีตึกสตง. ถล่มเป็นที่สนใจของสังคมไทยอย่างมาก โดยตึกดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด

    ทั้งนี้ มีรายงานว่าผู้เชี่ยวชาญที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างวัสดุก่อสร้างจากที่เกิดเหตุ พบว่าวัสดุบางส่วนเป็นของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ทำให้เกิดข้อสงสัยว่านิติบุคคลทั้งสองรายนี้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ประเด็นแรกมี 2 นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตึก สตง.ที่กำลังก่อสร้างพังถล่มลงมา ได้แก่

    - บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด มีชาวจีนร่วมถือหุ้นในสัดส่วน 49%

    - บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด มีชาวจีนร่วมถือหุ้นในสัดส่วน 80%

    เบื้องต้น พบว่าทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว มีมูลฐานความผิดตามกฎหมายไทยหลายฉบับ โดยหนึ่งในนั้น คือ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำส่งเอกสารรายละเอียดข้อมูลทางทะเบียนของทั้งสองบริษัทให้แก่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อพิจารณา และขณะนี้ DSI ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษแล้ว


เปิดข้อมูล 2 บริษัทเกี่ยวโยงตึกสตง. ถล่ม - บทลงโทษกรณีนอเมนี

    กระทรวงพาณิชย์ ยังเปิดเผยข้อมูล 2 บริษัทที่ถูกตรวจสอบ พบว่า

    1. บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2561 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท สัดส่วนหุ้น: ไทย 51% และ จีน 49% โดยผลประกอบการในปี 2566 ขาดทุนสะสม 208,489,056.67 บาท โดยพบความเชื่อมโยงกับนิติบุคคลอื่นๆ อีก 13 บริษัท

    2. บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ทุนจดทะเบียน 1.53 พันล้านบาท สัดส่วนหุ้น: ไทย 20% / จีน 80% (ไม่ระบุผลประกอบการ) โดยพบความเชื่อมโยงกับนิติบุคคลอื่นๆ อีก 24 บริษัท

    ความคืบหน้าล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ได้นำส่งเอกสารรายละเอียดข้อมูลทางทะเบียนของทั้งสองบริษัทให้แก่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อพิจารณา และ DSI ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษแล้ว และจะมีความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบเชิงลึกว่ามีการใช้คนไทยเป็นนอมินีอีกหรือไม่ และโยงใยไปถึงใคร

    ขณะเดียวกัน ฝั่งกรมบัญชีกลางจะเข้าตรวจสอบ14 บริษัทในเครือข่าย ซึ่งพบว่า การรับงานของ 26 โครงการที่มีปัญหา ซึ่งบางส่วนมีการทิ้งงาน โดยหากพบความผิดปกติอาจพิจารณา ขึ้นบัญชีดำ (Black List) บริษัทที่เกี่ยวข้อง

    สำหรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หากพบว่ามีการกระทำผิด จะมีบทลงโทษดังนี้

    1. กรณีคนไทยถือหุ้นแทนชาวต่างชาติ (Nominee) มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 100,000 -1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    2. กรณีคนต่างด้าวดำเนินธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 100,000 -1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    3. กรณีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจต้องห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลสามารถสั่งให้เลิกกิจการ หรือ เพิกถอนการถือหุ้นได้

ที่มา กระทรวงพาณิชย์


หนึ่งกรณี 8 หน่วนงานต้องเข้าจัดการเร่งด่วน!

    นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษแล้ว และทุกหน่วยงานต้องนำข้อมูลทั้งหมดให้ DSI ตรวจสอบ โดยมีการดำเนินการดังนี้

    1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจสอบ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงเครือข่าย 13 บริษัท พร้อมป้อนข้อมูลให้ DSI

    2. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้เกี่ยวข้อง

    3. กรมสรรพากร ตรวจสอบการเสียภาษีของบริษัทและผู้ถือหุ้นทั้งหมด

    4. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจสอบคุณภาพเหล็กและอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้าง

    5. กรมการจัดหางาน ตรวจสอบใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว

    6. กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจสอบโรงงานผลิตเหล็ก

    7. กรมที่ดิน ตรวจสอบการถือครองที่ดินของคนไทยและต่างชาติ

    8. กรมบัญชีกลาง ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง

    อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีคำถามถึงมาตรฐานในการทำงานของภาครัฐ ทั้งด้านความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูลโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ซึ่งหากมีช่องทางที่ตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพอาจมีส่วนในการลดการฉ้อโกง และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับโครงการของภาครัฐที่มีมหาศาลลงได้



ภาพ: กระทรวงพาณิชย์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เมื่อเกิด ‘แผ่นดินไหวปี 68 - ตึกสตง. ถล่ม’ ธุรกิจประกันภัยไทยรับมือและปรับตัวอย่างไร?

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine