กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ 9 เดือนแรกปี 67 เกือบ 70,000 ราย โตขึ้น 1.49%YoY แต่ทุนจดทะเบียนลดลง 57.83% เพราะฐานสูงในปีก่อน ขณะที่ยอดปิดกิจการอยู่ที่ 12,246 ราย ลดลง 5.87% ส่วนชาวต่างชาติที่ลงทุนไทยมากที่สุดยังคงเป็นญี่ปุ่น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนกันยายน 2567 มีจำนวน 7,867 ราย เพิ่มขึ้น 10.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และทุนจดทะเบียน 22,048.51 ล้านบาท ลดลง 8.78%YoY โดย 3 อันดับแรกที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่
1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 620 ราย ทุน 1,349.33 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 7.88%)
2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 531 ราย ทุน 3,465.99 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 6.75% )
3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 374 ราย ทุนจดทะเบียน 716.75 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 4.75%)
ขณะที่ การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนกันยายน 2567 มีจำนวน 2,254 ราย เพิ่มขึ้น 10.54%YoY และทุนจดทะเบียนเลิก 16,611.91 ล้านบาท ลดลง 3.59%YoY ประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2567 มีนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 ราย คือ
1) บจ.เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด (แพลตฟอร์ม JD CENTRAL) ทุนจดทะเบียนเลิก 4,959.27 ล้านบาท ประกอบกิจการค้าปลีกผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
2) บจ.เซ็นทรัล เจดี มันนี่ จำกัด (แพลตฟอร์ม Dolfin Wallet) ทุนจดทะเบียนเลิก 2,532.00 ล้านบาท ประกอบกิจการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการ
ส่วนช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 (มกราคม - กันยายน 2567) พบว่า การจัดตั้งธุรกิจใหม่มีจำนวน 69,686 ราย เพิ่มขึ้น 1.49%YoY ส่วนทุนจดทะเบียน 208,481.38 ล้านบาท ลดลง 57.83%YoY เนื่องจาก ในปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์เพราะมี 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ
ทั้งนี้ 9 เดือนแรกปี 67 ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 5,294 ราย ทุน 11,743.07 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 7.60%)
2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 5,229 ราย ทุน 22,833.72 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 7.50%)
3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 3,212 ราย ทุน 6,526.78 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 4.61%)
ทั้งนี้ คาดว่าตลอดปี 2567 จะมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ประมาณ 90,000 - 98,000 ราย โดยไตรมาสสุดท้ายจะมีปัจจัยกระตุ้นจากการลงทุนภาครัฐ เช่น โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ปีงบประมาณ 2568 เริ่มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 (ตุลาคม 2567) ทำให้ภาพรวมจะมีปริมาณยอดจดทะเบียนฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 - 23,000 ราย
ส่วนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการสะสม 9 เดือน (มกราคม - กันยายน 2567) มีจำนวน 12,246 ราย ลดลง 5.87%YoY ทุนจดทะเบียนเลิกสะสม 116,005.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.51%YoY
ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร จำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ เป็นสาเหตุให้ตัวเลขทุนจดทะเบียนเลิก 9 เดือนสูงกว่าปกติ หากตัดธุรกิจดังกล่าวออกไปทุนจดทะเบียนเลิกลดลง 13,604.73 ล้านบาท (16.71)% เมื่อพิจารณาสัดส่วนการเลิกประกอบธุรกิจในปี 2567 พบว่า มีเพียง 17.57% ของการจัดตั้งธุรกิจ ซึ่งน้อยกว่าปี 2566 ที่มีสัดส่วน 18.95% ของการจัดตั้งธุรกิจ
ขณะที่ 9 เดือน (มกราคม - กันยายน 2567) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 636 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 143 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 493 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 134,805 ล้านบาท จ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2,505 คน
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่
1) ญี่ปุ่น 157 ราย (25%) ลงทุน 74,091 ล้านบาท
2) สิงคโปร์ 96 ราย (15%) ลงทุน 12,222 ล้านบาท
3) จีน 89 ราย (14%) ลงทุน 11,981 ล้านบาท
4) สหรัฐอเมริกา 86 ราย (13%) ลงทุน 4,147 ล้านบาท
5) ฮ่องกง 46 ราย (7%) ลงทุน 14,116 ล้านบาท
Photo by Anna Niko on Unsplash
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : วีซ่าเผยคนไทยกลุ่ม Mass ใช้จ่ายชะลอลง ปรับแผนปี 67 รุกเพิ่มจุดจ่ายเงินร้านเล็ก 2-3 แสนทั่วไทย
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine