ช่วงที่ผ่านมา กระแสการดูแลสุขภาพและความงามเกิดขึ้นทั่วโลก ยิ่งทำให้ธุรกิจเวชศาสตร์ความงาม (Aesthetic & Surgery) ขยายตัวต่อเนื่อง แต่การเติบโตของธุรกิจนี้ในไทยเป็นอย่างไร และผู้บริโภคแต่ละกลุ่มนิยมแบบไหน?
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า ตลาดเวชศาสตร์ความงามของไทยในปี 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ราว 50,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องราว 10%CAGR ในช่วงปี 2565-2573 โดยมี 4 ปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจนี้เติบโต ได้แก่
1) เทรนด์ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์
2) เทรนด์ดูแลความงามและเวชศาสตร์ชะลอวัย จากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ของไทย
3) ค่าบริการในไทยที่เข้าถึงได้ง่าย เพราะค่าเฉลี่ยราคาต่ำกว่าค่าบริการเฉลี่ยของโลก เช่น การเสริมหน้าอก ของไทยเฉลี่ยที่ 82,500 บาทต่อครั้ง ส่วนค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 152,361 บาทต่อครั้ง
4) การส่งเสริมจากภาครัฐที่สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ต่างชาติ โดยในปี 2564 มีชาวต่างชาติเดินทางมาใช้บริการเวชศาสตร์ความงามในไทย เพิ่มขึ้นราว 20%YOY โดยส่วนใหญ่เดินทางมาจากยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย
ขณะเดียวกันจากผลสำรวจของ SCB EIC ในด้านเวชศาสตร์ความงามพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใส่ใจด้านความสวยความงาม โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y ผู้หญิง และ LGBTQIA+ มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับความสวยความงามมากขึ้น และใช้จ่ายในด้านเวชศาสตร์ความงามสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ส่งผลให้ธุรกิจเวชศาสตร์ความงาม ทั้งด้านหัตถการ และศัลยกรรมเสริมความงามมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง
ธุรกิจหัตถการเสริมความงาม : มีแนวโน้มขยายฐานผู้ใช้บริการได้มากขึ้นในกลุ่มผู้ชายและ Gen Z โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่า 44% ที่เคยทำหัตถการฯ จะใช้บริการเพื่อการรักษาและบำรุงผิวมากที่สุด และจะใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาทต่อครั้ง (สัดส่วน 69% จากผลสำรวจ)
ธุรกิจศัลยกรรมเสริมความงาม : จากผลสำรวจพบว่า ราว 21% ของผู้บริโภคเคยทำศัลยกรรมฯ และอีก 21% ไม่เคยทำแต่สนใจ โดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะทำศัลยกรรมมากกว่า 1 ประเภท โดยการศัลยกรรมจมูกและดวงตาเป็นที่นิยมสูงสุด
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคสนใจการหัตถการและศัลยกรรมเสริมความงาม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z ยังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งปัจจัยที่ผู้บริโภคให้น้ำหนักในการเลือกทำหัตถการกับสถาบันเสริมความงาม ได้แก่ ราคา/ส่วนลดโปรโมชัน (67%ของผู้ตอบแบบสอบุาม) ได้รับการรับรองมาตรฐาน และอุปกรณ์/เครื่องมือทันสมัย (เท่ากันที่ 57%)
ขณะที่ปัจจัยที่ผู้บริโภคให้น้ำหนักในการเลือกทำศัลยกรรมกับสถาบันเสริมความงาม ได่แก่ ได้รับการรับรองมาตรฐาน (67%) ชื่อเสียงสถานบริการและแพทย์ อีกทั้งอุปกรณ์/เครื่องมือทันสมัย (เท่ากันที่ 62%)
ดังนั้น ในด้านธุรกิจ SCB EIC ประเมินว่า ความท้าทายของธุรกิจเวชศาสตร์ความงาม จึงมี 2 ส่วนใหญ่ ได้แก่
1. การกำหนดราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ ยังคงเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจหัตถการเสริมความงามในการเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการเดิมกลับมาใช้บริการซ้ำ และการเจาะกลุ่มผู้ใช้บริการใหม่ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมใช้บริการหัตถการเสริมความงามมากกว่า 1 ประเภท และยังมีผู้บริโภคไม่น้อยที่สนใจใช้บริการหัตถการเสริมความงาม
อีกทั้ง การพัฒนาแพ็กเกจการบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลควบคู่ไปด้วยจะสามารถดึงดูดผู้ใช้บริการได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
2. การสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการทั้งชื่อเสียงของสถานบริการ ความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์ และความปลอดภัยของอุปกรณ์/เครื่องมือที่ให้้บริการจะสามารถดึงดูดผู้ที่สนใจทำศัลยกรรมได้มากขึ้น โดยเฉพาะการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกสถานบริการฯ และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันจากบริการศัลยกรรมในต่างประเทศที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นผ่านธุรกิจให้คำปรึกษาและบริการศัลยกรรม (เอเจนซี่) อีกด้วย
นอกจากนี้ การแชร์ประสบการณ์และผลลัพธ์ที่ดีจากผู้ใช้บริการจริงจะสามารถสร้างแรงจูงใจในการทำศัลยกรรมเสริมความงามได้โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ที่ได้รับอิทธิพลจากการรีวิว/โฆษณา
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : NIA เผยการลงทุนใน ‘สตาร์ทอัพเกษตร’ มีมูลค่าสูงกว่า 1.7 ล้านล้านบาท แนะ 3 เทคฯ สายเกษตรดาวรุ่ง มีโอกาสเติบโตรับเงินทุน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine