แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 มองไปข้างหน้า…ยังเหนื่อย - Forbes Thailand

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 มองไปข้างหน้า…ยังเหนื่อย

ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 เหลือโตร้อยละ 3.8 (กรณีมีโครงการดิจิทัล วอลเล็ต) และร้อยละ 3 ในปี 2568 จะเห็นแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย หากไม่แก้ไขจะโตลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ปัจจัยภายนอกยังเข้ามากระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทิศทางการลงทุน มองไปข้างหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังมีความน่ากังวลอยู่มาก


    การปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 – 2568 แม้มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นมาในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 แต่ยังต้องระมัดระวังจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน

    ซึ่งสัญญาณเริ่มเห็นตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2566 ที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่ำกว่าที่คาด ทำให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับลดจีดีพีในปี 2566 เหลือเติบโตร้อยละ 2.5 จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ถึงร้อยละ 3

    ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ประเมินว่า ปี 2567 หากมีโครงการดิจิทัล วอลเล็ต จะทำให้จีดีพีขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 ซึ่งเดิมในการประชุมครั้งที่แล้วคาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัวถึงร้อยละ 4.4

    สาเหตุที่ปรับลดลง เพราะมองว่าโครงการดิจิทัล วอลเล็ตจะถูกเลื่อนระยะเวลาและรูปแบบในการแจกเงิน ขณะที่หากไม่มีโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 3 ในปี 2568

    สิ่งที่ กนง.กังวล คือแม้เศรษฐกิจจะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 แต่มีปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบโดยเฉพาะท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ

    ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ราว 500,000 คน โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักยังไม่กลับมา ทำให้รายได้ท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่ส่งออกแม้คาดว่าแนวโน้มจะดีขึ้น แต่ด้วยสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อุตสาหกรรมไทยยังไม่ปรับตัว อาจทำให้การส่งออกของไทยได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่


แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังเสี่ยง

    สอดคล้องกับ ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย ในปี 2567 มี 4 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้

    1.ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2567 จะอยู่ในภาวะที่แต่ละประเทศชะลอตัวไม่เหมือนกัน (Uneven slowdown) จากภาวะดอกเบี้ยสูงขึ้นต่อเนื่องและค้างไว้เป็นเวลานาน (Higher for longer) ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะอยู่ไปจนถึงช่วงกลางปี 2567 เป็นอย่างน้อย

    โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจ จะมาจากการชะลอตัวของภาคการส่งออก และภาคธุรกิจที่อ่อนไหวสูงต่ออัตราดอกเบี้ย ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคก่อสร้าง โดยประเทศที่ยังมีตลาดแรงงานและค่าจ้างเติบโต จะมีกำลังซื้อในประเทศ ช่วยทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจยังชะลอตัวแบบจัดการได้ (soft landing) เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์



    ส่วนประเทศที่พึ่งพาการส่งออกมาก และมีปัจจัยถ่วงเฉพาะตัว เช่น การฟื้นตัวช้าของภาคอสังหาริมทรัพย์ มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวค่อนข้างมาก เช่น จีน และ เวียดนาม

    2.ดอกเบี้ยแม้จะสูงนาน แต่ตลาดก็มีความคาดหวังจะเห็นการลดดอกเบี้ยในครึ่งปีหลัง (market expectation on policy rate cuts) จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ โดยในส่วนของ SCB CIO มีมุมมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 3/2567

    ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น คาดว่า จะปรับมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control : YCC) ให้เข้มงวดขี้น ในช่วงเดือน เม.ย. 2567 แล้วจึงจะยกเลิกทั้งมาตรการ YCC และนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ (NIRP) ในเดือน ต.ค.2567

    ส่วนธนาคารกลางกลุ่มประเทศ Emerging markets ส่วนใหญ่ เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และ อินเดีย มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ย ในปี 2567 แต่ในส่วนของนโยบายการคลังนั้น หากประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้วมีแนวโน้มจะทำมาตรการการคลังขนาดใหญ่ ก็จะทำให้ตลาดมีความกังวล และส่งผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น และค่าเงินอ่อนค่าลง

    3.ความเสี่ยงที่นักลงทุนควรติดตาม ได้แก่ ความเสี่ยงด้าน Stagflation คือเศรษฐกิจโตช้า แต่เงินเฟ้อสูง โดย SCB CIO ประเมินว่ากลุ่มประเทศในยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้สูงกว่าภูมิภาคอื่น

    ในขณะที่ภาคธุรกิจที่มีหนี้ใกล้ครบกำหนดจำนวนมาก ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะต้องกู้ยืมใหม่ (rollover) ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาก สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Yield to Worst) ของกลุ่มหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) ในสหรัฐฯ ที่ล่าสุดอยู่ในระดับ 8.6% (เทียบกับ 5.1% ในช่วงต้นปี 2563) หรือกรณี yield หุ้นกู้ไทย rating BBB อายุ 5 ปี ที่ล่าสุดอยู่ที่ 5.6% (เทียบกับ 4.2% ในช่วงต้นปี 2563)

    4.ความไม่แน่นอนด้านการเมืองและนโยบาย จากการเลือกตั้งในหลายประเทศเศรษฐกิจหลัก เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา เพราะอาจนำมาสู่ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบาย รวมถึงความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ได้

    โดยในปี 2567 จะมีการเลือกตั้งในไต้หวันในวันที่ 13 ม.ค. อินโดนีเซีย ในวันที่ 14 ก.พ. อินเดีย ในช่วง เม.ย.-พ.ค.และ สหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย. เป็นต้น ซึ่งในช่วงการหาเสียงและประกาศนโยบาย อาจมีผลทำให้ตลาดการลงทุนเกิดความผันผวน จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศได้

    “เราคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว (interest rates peaked) ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในช่วงที่ผ่านมากระจุกตัวอยู่ในเงินฝาก และตลาดเงิน (money markets) ค่อนข้างมาก ฉะนั้น ในปี 2567 นี้ จึงคาดว่า นักลงทุนจะมีความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมีมากขึ้น (increasing risk appetite)

    “อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงแม้เริ่มลดลงมาบ้าง รวมถึงหนี้สินในบางภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง นักลงทุนควรเน้นคัดเลือกลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง” ดร.กำพลกล่าว


ตลาดหุ้นไทยเผชิญความเสี่ยงต่อ

    ด้านมุมมองของ Henny Sender ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของ Apsara Advisory ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์สำหรับบริษัทที่ให้บริการทางการเงิน ก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทการลงทุน BlackRock มองว่า ตลาดหุ้น Nasdaq ได้ดึงเม็ดเงินลงทุนจากตลาดหุ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อตลาดจีนและตลาดเกิดใหม่ ทำให้ดัชนีหุ้นประเทศต่างๆ ต่ำกว่าปีที่แล้ว เช่น ไทยลดลงร้อยละ 12.1 ฟิลิปปินส์ลดลงร้อยละ 4.6 ในขณะที่มาเลเซียลดลงร้อยละ 2.3 และเธอยังมองว่าด้วยว่าแนวโน้มเศรษฐกิจและสถานการณ์ในประเทศเหล่านี้จะไม่พลิกฟื้นกลับมาในเร็ววัน

    นอกจากนี้ จีน ซึ่งเป็นที่พึ่งพิงของตลาดเกิดใหม่ยังให้การสนับสนุนน้อยลงกว่าเมื่อก่อน หลังจากวิกฤตโควิดเป็นต้นมา เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ที่ต้องดึงเงินกลับประเทศเพื่อสร้างสมดุลให้กับเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงปัญหาภูมิศาสตร์ทำให้แนวโน้มเหล่านี้รุนแรงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนต่างให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมากกว่าการเติบโต ซึ่งส่งผลให้แต่ละประเทศต้องปรับรูปแบบและฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง

    “และแม้ว่าสหรัฐฯจะมีแนวโน้มยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ย และทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง แต่เงินไม่น่าจะไหลกลับมาที่ตลาดเกิดใหม่อย่างรวดเร็ว” Henny Sender ระบุ

    สำหรับแนวโน้มการลงทุนสัปดาห์นี้ (4-8 ธ.ค.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ดัชนีหุ้นไทยยังมีแรงกดดันต่อเนื่อง หลังสัปดาห์ที่แล้วยังคงร่วงต่อหลัง กนง.ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย ขณะที่มีแรงเทขายหุ้นกลุ่มท่าอากาศยาน และแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงกดดันหุ้นในสัปดาห์นี้เช่นเดียวกัน

    โดยสัปดาห์นี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,375 และ 1,360 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,410 จุด ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ย. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เทรนด์ลงทุนเพื่อความยั่งยืนโต ESG Bond ในไทยมูลค่าคงค้าง 6.9 แสนล้าน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine