เทรนด์ลงทุนเพื่อความยั่งยืนโต ESG Bond ในไทยมูลค่าคงค้าง 6.9 แสนล้าน - Forbes Thailand

เทรนด์ลงทุนเพื่อความยั่งยืนโต ESG Bond ในไทยมูลค่าคงค้าง 6.9 แสนล้าน

แนวโน้มการลงทุนเพื่อความยั่งยืนเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ ESG bond ในประเทศไทย มีมูลค่าคงค้าง 6.9 แสนล้านบาท รับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ด้าน ก.ล.ต. กำหนดกรอบลงทุนของกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และโทเคนดิจิทัล เตรียมเสนอขายภายในเดือนธันวาคมนี้



    หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) เพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจการในประเทศที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ทำให้การลงทุนเพื่อความยั่งยืนกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง

    อย่างไรก็ตาม สำหรับตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (ESG Bond) ได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า จากมาตรการของประเทศต่างๆ ในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้การระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ ESG bond ในประเทศไทย มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนมีมูลค่าคงค้างกว่า 6.9 แสนล้านบาท จากผู้ออกหุ้นกู้เป็นภาครัฐ 6 องค์กร และภาคเอกชน 25 บริษัท

    และภาครัฐยังได้ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) ซึ่งนักลงทุนจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะเสนอขายต่อผู้ลงทุนได้ภายในต้นเดือนธันวาคมนี้

    การเติบโตของตลาดตราสารหนี้ ESG Bond ของไทย เป็นเทรนด์เดียวกับทั่วโลกและภูมิภาคเอเชีย จากการเปิดเผยของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB พบว่า การเติบโตของตลาดตราสารหนี้ ESG bond ในกลุ่มอาเซียน+3 (อาเซียนรวมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1.4% ของตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก

    โดยภาคเอกชนเป็นหน่วยงานหลักในการออก ESG bond และ Green bond มีสัดส่วนการออกมากที่สุดที่ 51.7% คิดเป็นมูลค่ากว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงตราสารหนี้เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Transition bond ก็เติบโตมากในจีนและญี่ปุ่น


กำหนดกรอบลงทุน Thai ESG

    สำหรับความคืบหน้าของ Thai ESG หลังจากประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย โดยผู้ลงทุนสามารถนำเงินลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีที่มีการลงทุน รวมทั้งเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ถ้าการลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนใน Thai ESG ไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน

    คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) มีมติเห็นชอบหลักการให้ Thai ESG ลงทุนในทรัพย์สินที่ผู้ออกเป็นภาครัฐไทยหรือกิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังนี้

    1.หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ที่ได้รับการคัดเลือกจาก SET ว่ามีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (environment) หรือด้านความยั่งยืน (ESG) และหรือ

    2.หุ้นที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนใน SET และ mai ที่มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนการจัดการ และการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ที่ผ่านการทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยผู้ทวนสอบ และหรือ

    3.ตราสารหนี้ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืน ประกอบด้วย Green bond Sustainability bond และ Sustainability-linked bond

    4.โทเคนดิจิทัลเพื่อการระดมทุนที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืนที่มีมาตรฐานในทำนองเดียวกันกับตราสารหนี้ดังกล่าว

    ทั้งนี้ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยคาดว่า Thai ESG จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยต้นเดือนธันวาคม คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) เตรียมประกาศหลักเกณฑ์และอนุมัติกองทุนรวม และภายในเดือนธันวาคม 2566 จะเปิดให้ บลจ.เปิดเสนอขายกองทุนรวม Thai ESG ให้ผู้ลงทุนได้ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ซึ่ง Thai ESG เป็นอีกหนึ่งความหวังของตลาดทุนที่จะเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในตลาดฯ


ตลาดจับตาการประชุม กนง.

    สำหรับทิศทางการลงทุนหุ้นไทยสัปดาห์นี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,390 และ 1,375 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,415 และ 1,430 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือน ต.ค. ของไทย การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) (29 พ.ย.นี้) ซึ่งตลาดฯ ได้คาดการณ์การประชุม กนง.สัปดาห์นี้ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 หลังจากแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 3 ชะลอตัว รวมถึงตัวเลขจีดีพีที่ต่ำกว่าที่คาดไว้

    ด้านปัจจัยภายนอก ต้องจับตาทิศทางเงินทุนต่างชาติ หลังจากบันทึกการประชุมเฟดส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง และการประชุมโอเปกพลัส (30 พ.ย.) ที่ส่งผลต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน รวมไปถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ของสหรัฐฯ เป็นต้น


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ไทยสนโลกร้อน-สังคมแค่ไหน? ผลวิเคราะห์ชี้ บริษัทไทยมี ESG อยู่ในระดับต่ำ-ปานกลาง แนะพัฒนาทุกมิติทัดเทียมตลาดโลก

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine