หลังจากเมื่อวานนี้ ทางรัฐบาลได้ประกาศรายละเอียดเบื้องต้นของโครงการ Digital wallet ที่จะให้วงเงิน 10,000 บาทแก่ประชาชนไทยกว่า 50 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเริ่มให้ใช้จ่ายได้ในไตรมาส 4/2567 โดย Krungthai COMPASS มองว่าโครงการนี้จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยที่โตต่ำได้ หนุนธุรกิจค้าปลีกรายย่อยเข้าสู่ระบบ และจะช่วยลดขนาดเศรษฐกิจนอกระบบที่ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนถึง 48.4% สูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก
Krungthai COMPASS ประเมินว่า มาตรการกระเป๋าเงินดิจิทัลหรือ Digital Wallet เป็นเครื่องมือที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ มีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงระดับล่าง ซึ่งจะสร้างการใช้จ่ายในร้านค้าปลีกท้องถิ่น คาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายจริงในไตรมาส 4/2567 โดยมูลค่าในโครงการฯ อยู่ที่ 500,000 ล้านบาท (คิดเป็น 2.8% ของ GDP) คาดว่าจะสร้าง Fiscal Multiplier (ตัวคูณทวีทางการคลัง) อยู่ที่ประมาณ 0.4-0.7 เท่า และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของ GDP ที่ทางการประเมินไว้ที่ 1.2-1.6%
ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ยังให้น้ำหนักว่านโยบายนี้เป็นมาตรการ Quick-win ที่จะกระุต้นอุปสงค์ภายในประเทศ และความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ในด้านผลกระทบมองว่าอาจต้องคำนึงผลของการโยกเงินงบประมาณ 2567 ผ่านการจัดสรรเม็ดเงินที่นำมาจากโครงการอื่น รวมถึง Crowding out effect จากต้นทุนทางการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้นตามการเร่งระดมทรัพยากรการเงินของภาครัฐ โดยมองความท้าทายหลักคือการเร่งรัดโครงการนี้ฯ ว่าจะสามารถเกิดขึ้นจริงทั้งการโอนเงินให้กับประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการในช่วงไตรมาสที่ 4/2567
นอกจากนี้ ยังประเมินว่า Digital Wallet จะช่วยหนุนให้กิจกรรมการค้าปลีกรายย่อยเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้ภาษีและที่มาของรายได้รัฐบาลในอนาคต และยังช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการใช้จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของไทย
ขณะเดียวกันโครงการ Digital wallet อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ในระบบมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันเศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีขนาดใหญ่ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 48.4% ของ GDP มากเป็นอันดับ 14 ของโลก ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 32.7% และสูงกว่าเกือบทุกประเทศในเอเชีย เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ซึ่งมีสัดส่วนเศรษฐกิจนอกระบบต่อ GDP ที่เฉลี่ยเพียง 26.7%
จากฐานข้อมูลพบว่า ไทยมีข้อมูลประชาชนและธุรกิจ SME ที่อยู่ในระบบค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการมีผู้ที่อยู่ในฐานระบบภาษีน้อย
- ไทยมีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียง 10-11 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน
- ไทยมีธุรกิจนอกระบบจำนวนมาก ปัจจุบันมีจํานวน SME อยู่ราว 3.2 ล้านราย แต่เป็นนิติบุคคลเพียง 8.4 แสนราย หรือคิดเป็น 26% ซึ่งนั่นหมายความว่ามี SME จำนวนมากถึงเกือบ 2.4 ล้านราย หรือ 74% ที่ไม่มีข้อมูลงบการเงินในระบบฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ มักมีจะปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมหลายด้าน โดย จากการศึกษาของ World Bank พบว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่มักจะมีรายได้ต่อหัวในระดับต่ำกว่า มีปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูงกว่า มีการกำกับดูแลและธรรมาภิบาลที่แย่กว่า มี Productivity ทั้งมิติของภาคธุรกิจและแรงงานที่ต่ำกว่า มีการปรับตัวเพื่อรับมือต่อวิกฤตต่างๆ ต่ำกว่า และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ช้ากว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดเล็ก ดังนั้น ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาในระบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจต่อยอดไปสู่ Data driven economy และ Digital economy ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ภาครัฐออกมาตรการนี้เพราะมองว่า การเติบโตเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดย GDP ล่าสุดในไตรมาสที่ 4/2566 เติบโต 1.7%YoY จากปีก่อน และเมื่อเทียบรายไตรมาสแล้วหดตัวลง -0.6%QoQSA จากช่วงไตรมาสก่อน ขณะที่ตัวเลขทั้งปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.9% ชะลอลงจาก 2.5% ในปี 2565 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยท้าทายทั้งการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างอ่อนแอ งบประมาณปี 67 ที่ล่าช้า และการบริโภคภาคเอกชนยังมีทิศทางชะลอตัวลงตามรายได้ที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึงและภาระหนี้ครัวเรือน
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อ่านเงื่อนไข “Digital Wallet” พร้อมแจก 10,000 บาทใน 50 ล้านคน คาดเริ่มใช้จ่ายไตรมาส 4/67
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine