กรุงไทยมองเทรนด์เงินบาทพลิกแข็งค่า แต่ไม่หลุด 34.00 บาท/เหรียญสหรัฐ - Forbes Thailand

กรุงไทยมองเทรนด์เงินบาทพลิกแข็งค่า แต่ไม่หลุด 34.00 บาท/เหรียญสหรัฐ

จากต้นปี 2567 แม้จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 37 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่ตอนนี้พลิกกลับมาแข็งค่าที่ราว 34.26 บาท/เหรียญสหรัฐ จากความผันผวนที่เกิดขึ้นนี้ แนวโน้มในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร


     นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (22 ส.ค. 67) ที่ระดับ 34.26 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยสาเหตุหลักที่บาทพลิกแข็งค่ามาจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังการปรับปรุงรายงานข้อมูลการจ้างงานเบื้องต้นชี้ว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ในช่วง 12 เดือนที่สิ้นสุด ณ เดือนมีนาคมของปีนี้นั้น ลดลงกว่า 8.18 แสน ตำแหน่ง จากที่ได้รายงานก่อนหน้า 

     ในภาพรวมค่าเงินเงินดอลลาร์สหรัฐ ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจมากขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่การประชุมเดือนกันยายนและยังให้โอกาสราว 38% ที่ Fed จะเร่งลดดอกเบี้ยได้ -50bps ในการประชุมดังกล่าว หลังผู้เล่นในตลาดรับรู้การปรับปรุงข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เบื้องต้นและรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด 

     ในระยะสั้น 22 ส.ค. 67 ยังต้องติดตาม รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนสิงหาคมประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้ง สหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น โดยผู้เล่นในตลาดจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งหากดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในฝั่งสหรัฐฯ นั้น ปรับตัวดีขึ้น หรือ อาจออกมาดีกว่าคาด ก็จะพอช่วยคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนัก หลังตลาดรับรู้การปรับปรุงรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เบื้องต้นในคืนที่ผ่านมาได้บ้าง และอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ย -100bps ในปีนี้ 

     นอกจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ รวมถึงจับตาการส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินของ Fed จากงานสัมนาประจำปีของ Fed ที่เมือง Jackson Hole ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคมนี้ 

     ขณะที่แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นมีกำลังมากขึ้น เห็นได้จากการที่เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงวันก่อนหน้า และยังอ่อนค่าลงได้ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมติ 6-1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ซึ่งภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ Call Bottom USDTHB แถว 34.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (กรุงไทยประเมินว่า เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าหลุดโซน 34.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ) เนื่องจากยังคงมุมมองเดิมว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้นได้รับรู้ปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ไปมากแล้ว 

     ขณะที่เงินบาทก็เริ่มเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น หากตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งต้องจับตาถ้อยแถลงของประธาน Fed ในสัปดาห์นี้ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อีกทั้ง เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ในจังหวะย่อตัว ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบ อาจขาดปัจจัยหนุนในช่วงนี้ได้ นอกจากนี้ จากการประเมินสถานะการถือครองของผู้เล่นในตลาด รวมถึงการประเมิน Valuation ของเงินบาท ก็ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจทยอยพลิกกลับมาอ่อนค่าจากโซน 34.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ ทั้งนี้ เราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทได้กลับมาสู่แนวโน้มอ่อนค่าลงชัดเจน หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 34.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ได้อย่างชัดเจน 

     ในเบื้องต้นจึงประเมินว่า เงินบาทจะมีโซนแนวต้านแรกแถว 34.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และจะมีโซนแนวต้านสำคัญในช่วง 34.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่โซนแนวรับนั้นได้ขยับขึ้นมาแถว 34.00-34.10 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 

     ทั้งนี้ ยังมีมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะ JPY Carry Trade/Short JPY ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบเงินบาท 22 สิงหาคม 67 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.15-34.40 บาท/เหรียญสหรัฐ



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : แบงก์ชาติ ‘คง’ ดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% มองคุณภาพหนี้ยังแย่ลงจากกลุ่มเปราะบางฟื้นช้า

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine