ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ 33.54 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 'อ่อนค่าลง' กรุงไทยชี้ต้องจับตา CPI-สถานการณ์ความรุนแรง - Forbes Thailand

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ 33.54 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 'อ่อนค่าลง' กรุงไทยชี้ต้องจับตา CPI-สถานการณ์ความรุนแรง

กรุงไทยเผยค่าเงินบาทเช้านี้ เปิดตลาดที่ระดับ 33.54 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.45 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และบอนด์ยีลด์ 10 ปี ปรับเพิ่มสูงขึ้น ตลาดจับตา Fed อาจคงดอกเบี้ยฯ ในการประชุมรอบพฤศจิกายนนี้

    นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทเช้านี้ (10 ต.ค. 67 ) เปิดตลาดที่ระดับ 33.54 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 33.45 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) 10 ปี สหรัฐฯ เข้าใกล้ระดับ 4.08%

    ทั้งนี้ ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลงในกรอบการเคลื่อนไหว 33.42-33.55 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และพบว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเข้าใกล้ระดับ 4.08% หลังผู้เล่นในตลาดต่างเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน สู่ระดับใกล้ 20% จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด รวมถึง Fed อาจไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยเหมือนที่เคยคาดหวังไว้ (Fed อาจลดดอกเบี้ยได้ไม่ถึง -100bps ในปี 2568)

    การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงข่าวการเจรจาหยุดยิงระหว่างกลุ่ม Hezbollah กับทางการอิสราเอล ยังกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับ 2,600-2,610 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำ กดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงเหนือโซน 33.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้อีกครั้ง

    นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น หลังการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 149 เยนต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อเทียบกับเงินบาทนั้น เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) ก็อ่อนค่าลงต่ำกว่าระดับ 22.50 บาทต่อ 100 เยน

    สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทวันนี้ ประเมินว่าค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ในช่วงก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศโดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้ง ทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบ ได้ทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ และข่าวการเจรจาหยุดยิงระหว่างกลุ่ม Hezbollah กับทางการอิสราเอล (ซึ่งมองว่า ทางการอิสราเอลอาจจะยังไม่ยอมรับข้อเสนอในการหยุดยิงได้ ทำให้ยังคงมีความเสี่ยงที่สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจยืดเยื้อ แต่อาจไม่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น)

    นอกจากนี้ เรายังคงเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ ที่อาจกดดันเงินบาทได้เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก ซึ่งต้องจับตาโซนแนวต้าน 33.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐโดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงในการทยอยขายเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มเติม โดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออก อีกทั้ง ในช่วงหลังเงินบาทก็เริ่มเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินหยวนจีน (CNY) มากขึ้น ทำให้หากเงินหยวนจีนทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงระหว่างวันได้เช่นกัน และต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “ชีวาศรม” ปรับกลยุทธ์ รุกตลาดคนไทย

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine