กรุงไทย มองเศรษฐกิจไทยโตไม่ทั่วถึง หนี้ครัวเรือนสูง จึงยังดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ส่วนผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2567 มีกำไรสุทธิที่ 24,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4%YoY มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังโต 11.7%YoY เผยหนี้เสียลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า และมุ่งนโยบายช่วยกลุ่มเปราะบางแก้หนี้อย่างต่อเนื่อง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 เริ่มฟื้นตัวท่ามกลางความท้าทายโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 โดยการฟื้นตัวยังต่ำกว่าศักยภาพ และเป็นการฟื้นตัวแบบ K-shaped Recovery (ไม่ทั่วถึง) รวมถึงยังมีแรงกดดันจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และค่าครองชีพสูงขึ้น
ดังนั้น ธนาคารกรุงไทย จึงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ มุ่งเน้นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและยืดหยุ่น รักษา Coverage Ratio ในระดับสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ยังเดินหน้ายุทธศาสตร์การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมถึงดูแลช่วยเหลือลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ช่วงที่ผ่านมามีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR MLR และ MOR 0.25% ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่ 16 พ.ค. - 15 พ.ย. 2567
สรุปผลประกอบการสำหรับครึ่งแรกของปี 2567
- กำไรสุทธิ อยู่ที่ 22,274 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.1%YoY
- รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ อยู่ที่ 59,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7%YoY
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.35% เพิ่มขึ้นจาก 3.10% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566
- รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่นๆ อยู่ที่ 10,854 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2%YoY
- รายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ อยู่ที่ 9,681 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.4%YoY
- ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน อยู่ที่ 34,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.4%YoY สาเหตุหลักมาจากผลการบริหารดการทรัพย์สินรอการขายอย่ำงระมัดระวังโดยธนาคารตั้งค่าเผื่อด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายตามศักยภาพของทรัพย์สินอย่างเหมาะสม
- Cost to Income ratio เท่ากับ 42.6%
- ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อยู่ที่ 16,032 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1%YoY
- สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ 30 มิ.ย. 67 อยู่ที่ 98,701 ล้านบาท ลดลง 0.11% จากสิ้นเดือน มี.ค. 67
- อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 3.12% ลดลงจากสิ้นเดือน มี.ค. 67 ที่อยู่ระดับ 3.14%
- อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 181.1%
ณ 30 มิ.ย. 2567 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.57% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง และมีเงินกองทุนทั้งสิ้นที่ 20.75% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่องสูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท. กำหนด
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : SCBX เผยกำไรครึ่งปีแรก 67 เหลือ 21,295 ล้าน ลดลง 6.9% ผลจากค่าใช้จ่ายฯ หลังปิดแอป Robinhood
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine