อ่านมุมมองศูนย์วิจัยกสิกรไทย สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะโตเพียง 2.4% ชะลอตัวจากปีนี้ - Forbes Thailand

อ่านมุมมองศูนย์วิจัยกสิกรไทย สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะโตเพียง 2.4% ชะลอตัวจากปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 2.4% ชะลอตัวลงจากปี 67 ที่คาดว่า GDP จะอยู่ที่ 2.6% สาเหตุหลักเพราะการท่องเที่ยวและการส่งออกที่อาจชะลอลง โดยจับตาความเสี่ยงสงครามการค้า และปัญหาหนี้ทั้งรายย่อยและ SME ที่มีแนวโน้มแย่ลง


    นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปี 2568 เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทั้งในด้านการลงทุนและการค้าโลก โดยเฉพาะเมื่อ Donald Trump หวนคืนในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง และประกาศนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าที่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในต้นปี 68 รวมถึงนโยบายอเมริกาเฟิร์สท์ ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป เมื่อแนวโน้มในปีหน้าเศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวลงโดยเฉพาะจีน และภาคการผลิตของไทยที่เจอภาวะการแข่งขันสูงจากสินค้าจีนท่ามกลางขีดความสามารถที่ลดลง

    ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2568 นอกจากต้องเตรียมรับมือกับปัจจัยภายนอกประเทศที่ควบคุมไม่ได้ ยังคาดว่าจะเติบโตชะลอลง โดยคาดว่า GDP ไทยจะอยู่ที่ 2.4% ชะลอลงจากปี 2567 ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6% (ไตรมาส 4 ปี 67 นี้คาดว่าจะขยายตัวสูงถึง 3.6%) สาเหตุหลักที่ปีหน้าไทยอาจโตชะลอมาจากแรงส่งของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกจะลดลงหลังเผชิญผลกระทบจากสงครามการค้า


    ในด้านการส่งออกของไทย ปี 2568 คาดว่าจะอยู่ทึ่ 2.5% ลดลงจากปี 67 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4.5% สาเหตุเพราะอาจเจอผลกระทบทั้งทางตรงอย่างการขึ้นภาษีของสหรัฐ ขณะที่ทางอ้อม หากจีนเจอกำแพงภาษีจากสหรัฐ ย่อมทำให้สินค้าจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เหล็ก ฯลฯ ทะลักเข้าสู่ตลาดอื่นแทน รวมถึงไทย ทั้งนี้หากประเมินสงครามการค้ารอบใหม่นี้อาจว่าจะกระทบเศรษฐกิจไทยให้ลดลงราว 0.6% (กรอบบน)

    ทั้งนี้ ปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยปี 2568 ได้แก่ การลงทุนภาครัฐขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมาจากเม็ดเงินเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ที่หดตัว สอดคล้องไปกับ FDIs ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

    อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยยังสะท้อนไปยังสถานการณ์อุตสาหกรรมไทย ปี 2568 ที่อาจไม่ปรับตัวดีขึ้นนัก เพราะ 1) สงครามการค้าภายใต้ทรัมป์ 2.0 ที่กระทบต่อการส่งออกและการผลิต 2) มาตรการภาครัฐ เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจส่งผลกระทบต้นทุน โดยเฉพาะในธุรกิจ เกษตร, โรงแรม, ร้านอาหาร, ค้าปลีก และก่อสร้าง และ 3) ประเด็นเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้คนยังระมัดระวังการใช้จ่าย


    นอกจากนี้ปัญหาหลักของไทยอย่าง สถานการณ์หนี้ยิ่งมีความน่ากังวลมากขึ้น โดยข้อสังเกตแรกคือ ปี 2567 แนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยยังเติบโตช้าและต่ำ โดยมีอัตราการขยายตัวราว 0.6% (ปี 67 หดตัว 1.8%) เนื่องจากสินเชื่อรายย่อยและ SME ที่หดตัว ตามคุณภาพหนี้ที่แย่ลง ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

    ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อธุรกิจ จากฐานข้อมูลบัญชีลูกหนี้นิติบุคคล (NCB) กว่า 1.7-1.8 ล้านบัญชี/ไตรมาส พบว่า ปัญหาหนี้เสียยังเพิ่มสูงขึ้น และเริ่มเห็นแนวโน้มในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางมากขึ้น สะท้อนจากกลุ่มค้างชำระ 1-30 วันในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและกลางปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งหากเจาะลึกในกลุ่มปัญหาหนี้เรื้อรัง คือ ธุรกิจบัญชีเดิมที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจขนาดเล็กและกลางน่าห่วงมากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐออกมาตรการแก้หนี้รายย่อยในกลุ่มที่เพิ่งเป็นหนี้เสีย (เป็นหนี้เสียในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา) มองว่าอาจช่วยลดหนี้เสียในระบบได้บางส่วน แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะมีผู้เข้าร่วมมอกน้อยเพียงใด ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจเช่นกัน


ภาพ: กสิกรไทย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กสิกรไทยเผยธุรกิจเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ไทยปี 68 แข่งแรง! ผลจาก ‘สินค้านอกตีตลาด-กำลังซื้อซบเซา-คู่แข่งเพียบ’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine