ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด GDP ไทยปี 67 เหลือ 2.6% แนะภาคอุตฯเร่งปรับตัว รับการกีดกันการค้าที่เข้มขึ้น - Forbes Thailand

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด GDP ไทยปี 67 เหลือ 2.6% แนะภาคอุตฯเร่งปรับตัว รับการกีดกันการค้าที่เข้มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัวที่ 2.6% มองช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากการเบิกจ่ายงบฯ ภาคอุตสาหกรรมไทยเสี่ยงกระทบจาก “เบิกจ่ายภาครัฐที่ไม่แน่นอน - สินค้าจีนทะลัก- ต้นทุนธูรกิจเพิ่ม” และต้องจับตาความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจเพิ่มขึ้น


    นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เพิ่งฟื้นตัว แม้ที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะให้ภาพแรงส่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าคาด จนตลาดปรับการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้

    แต่ก็มีประเด็นที่มองว่าต้องให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ได้แก่ นโยบายภาษีของสหรัฐฯ และยุโรปที่กีดกันอุตสาหกรรม Cleantech ของจีน ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์ ซึ่งมองว่าจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคยุโรป อาเซียน และอเมริกาใต้ ขณะที่ หากโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง กลยุทธ์ของจีนในการกระจายความเสี่ยงทางการค้า อย่างเช่น China+1 ที่ขยายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีทางการค้า ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ

    ดังนั้น ไทยต้องจับกระแสประเด็นการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อภาคอุตสาหกรรมไทยปรับทิศทางได้ทัน

    นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมทั้งปี 2567 คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 2.6% (ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนหน้าที่อยู่ 2.8%) โดยช่วงครึ่งปีหลัง 2567 มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกมากขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในปี 2566

    แต่ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นข้างต้น การระบายสินค้าจากกำลังการผลิตส่วนเกินจากจีนมายังตลาดโลกรวมถึงไทย ในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงมีผลให้ส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์

     ในระยะต่อไป ปัจจัยที่จะกระทบภาคอุตสาหกรรมไทย ได้แก่

    1. ความไม่แน่นอนของการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่จะกระทบอุตสาหกรรมก่อสร้าง

    2. สินค้านำเข้าที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้น จากผลของสงครามการค้า ซึ่งจะกระทบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และเหล็ก

    3. ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่ภาครัฐทยอยลดการอุดหนุน และค่าแรงที่มีทิศทางสูงขึ้น จะกระทบต่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น

    ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ภาครัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ กวดขันสินค้านำเข้าและสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) รวมถึงเติมสภาพคล่องให้กับ SMEs และเน้นวางแผนการจัดการน้ำ ขณะเดียวกัน ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในทุกมิติ ทำให้รายได้เติบโตเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุน



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : SCB EIC หั่น GDP ไทยปีนี้เหลือ 2.5% เหตุ ‘ส่งออกแผ่ว - สินค้าจีนตีตลาด - ครัวเรือนเปราะบาง’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine