Inverted Yield Curve สัญญาณเตือนสำคัญที่ต้องจับตามองในช่วงครึ่งปีหลัง
Yield curve หรือส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะยาวและระยะสั้นของสหรัฐฯ นับเป็นสัญญาณสำคัญที่สะท้อนมุมมองของตลาดทุนต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต
ในภาวะปกติ Yield Curve จะมีลักษณะ “ชันขึ้น” คือพันธบัตรที่มีอายุมากกว่าจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าพันธบัตรระยะสั้น แต่เมื่อใดที่ Yield Curve มีลักษณะ “Invert” หรือดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว ต่ำกว่า ระยะสั้น ก็จะเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Bond Yield ระยะยาว ต่ำกว่าระยะสั้น ตลาดมองว่า Fed จะต้องลดดอกเบี้ยลงในอนาคต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ)
ในปัจจุบัน Bond Yield ระยะสั้นอายุ 2 ปีของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับประมาณ 2.55% ในขณะที่ Bond Yield อายุ 10 ปีทรงตัวที่ 3% ซึ่งทำให้ความชันของ Yield Curve (Bond Yield 10 ปี ลบด้วย 2 ปี) อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ที่ 0.45%
Bond Yield ระยะสั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ซึ่งหากเป็นไปตามที่เราคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยทุกไตรมาสๆ ละ 25bps ไปจนถึงสิ้นปี 2019 Bond Yield อายุ 2 ปี ก็จะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 3% ในช่วงไตรมาส 1/2019 ซึ่งหาก Bond Yield อายุ 10 ปียังคงทรงตัวอยู่ที่ 3% ณ เวลานั้น ก็จะทำให้ Yield Curve เข้าสู่ภาวะ Invert ในช่วงต้นปี 2019
ในอดีตที่ผ่านมา การ Invert ของ Yield Curve สามารถพยากรณ์การเกิดขึ้นของ Recession ได้อย่างแม่นยำ และ Recession มักเกิดขึ้นในเวลา 15 เดือนโดยเฉลี่ยหลังจาก Yield Curve Invert ซึ่งหาก Yield Curve เริ่ม Invert ในช่วงไตรมาส 1/2019 ตามที่เราคาด เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Recession ในช่วงต้นปี 2020
การ Invert ของ Yield curve นับเป็นสัญญาณการสิ้นสุดของวัฏจักรการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งก็มักเป็นสัญญาณของการ “จบรอบ” ของตลาดหุ้นขาขึ้น (Bull Market) ด้วยเช่นกัน ดังนั้นนักลงทุนควรจับตาดูความเคลื่อนไหวของ Yield Curve อย่างใกล้ชิด และควรพิจาณาลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นหาก Yield Curve เริ่ม Invert
นอกจากการ Invert ของ Yield Curve แล้ว ข้อมูลในอดีตอื่นๆ ก็ยังชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงปลายปี 2019 ถึงต้นปี 2020 โดยจากการศึกษาของ Deutsche Bank พบว่า เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะ Recession หลังจากอัตราการว่างงานลดลงต่ำกว่าอัตราการจ้างงานเต็มที่ (NAIRU: Non-Accelerating Inflation Rate of Unemployment) เป็นเวลา 36 เดือนโดยเฉลี่ย ซึ่งอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ได้ลดลงต่ำกว่า NAIRU มาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2016 ซึ่งชี้ว่า Recession จะเกิดในช่วงเดือน ก.ย. 2019
อีกปัจจัยหนึ่งก็คือการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งในอดีตเศรษฐกิจมักเข้าสู่ภาวะถดถอยโดยใช้เวลา 33 เดือน (ค่ากลาง) หรือ 44 เดือน (ค่าเฉลี่ย) หลังจากที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก ซึ่งหากเรานับว่า Fed ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน ธ.ค. 2016 (ไม่นับเดือน ธ.ค. 2015 เนื่องจากขึ้นดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวแล้วหยุดไป 1 ปีเต็ม) เศรษฐกิจก็จะมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Recession ในช่วง ก.ย. 2019 – พ.ย. 2020
ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า อาจทำให้ตลาดหุ้น (ซึ่งจะเคลื่อนไหวสะท้อนการเกิดเหตุการณ์ล่วงหน้า) กลับมาผันผวนและมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้
นอกจากนั้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ยังมีความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตามมองอีกสองประการได้แก่ สภาพคล่องที่ลดลงจากการลด Balance Sheet ของ Fed และการยุติ QE ของ ECB และ ความเสี่ยงจากการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. ซึ่งพรรค Republican มีโอกาสสูญเสียเสียงข้างมากในทั้งสภาบนและสภาล่าง และอาจเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงอาจเป็นความเสี่ยงให้ ปธน. ทรัมป์ ถูกนำเข้ากระบวนการถอดถอน (Impeachment) ซึ่งทำให้นักลงทุนต้องลงทุนด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ