Gogolook บริษัทเทค ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall ประกาศตั้งสำนักงานใหญ่แห่งที่สองในประเทศไทย รุกขยายบริการโซลูชันป้องกันการฉ้อโกง จับมือ ScamAdviser เจาะบริการฝั่งธุรกิจ SME และองค์กรขนาดใหญ่ในทุกอุตสาหกรรม จากศึกษาการวิจัยพบว่าบริษัทเจอค่าใช้จ่ายสูงเพื่อรับมือการฉ้อโกงจากมิจฉาชีพ
นายเจฟฟ์ กัว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโกโกลุก (Gogolook) กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ฉ้อโกงที่เกิดจากมิจฉาชีพแพร่ระบาดไปทั่วโลก การพัฒนาบริการเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) จึงเป็นสิ่งที่ Gogolook ให้ความสำคัญโดยสร้างโซลูชันที่ใช้นวัตกรรม AI เพื่อป้องกันการหลอกลวง และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้งาน ในการติดต่อสื่อสารทั้งข้อความและช่องทางดิจิทัล
ทั้งนี้ เพื่อขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเลือกตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยขึ้นเป็นแห่งที่ 2 (แห่งแรกคือไต้หวัน) โดยจะมุ่งขยายบริการในภาคธุรกิจมากขึ้น เพราะจากผลการศึกษาวิจัยเรื่องต้นทุนที่แท้จริงของการฉ้อโกงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2566 พบว่า 58% ของบริษัทในภูมิภาคนี้ต้องรับมือกับการฉ้อโกงจากมิจฉาชีพเพิ่มขึ้น
ทำให้บริษัทต้องมีค่าใช้จ่ายที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาจากการหลอกลวง เช่น การดำเนินคดีความกับผู้กระทำความผิด และค่าชดเชย เฉลี่ยอยู่ที่ 100 บาท (4 เหรียญสิงคโปร์) ต่อทุกๆ 25 บาท (1 เหรียญสิงคโปร์) ที่สูญเสียไป โดยบริษัทค้าปลีกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 80 บาท ต่อทุกๆ 25 บาท หรือ (3.07 เหรียญสิงคโปร์) ในขณะที่สถาบันการเงินจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึง 128 บาท ต่อทุกๆ 25 บาท หรือ (4.59 เหรียญสิงคโปร์)
นอกจากนี้ รายงานสถานการณ์การหลอกลวงจากมิจฉาชีพในภูมิภาคเอเชียประจำปี 2567 ที่จัดทำโดย องค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก (GASA) ร่วมกับ ScamAdviser ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายที่ประชากรและธุรกิจได้รับจากการหลอกลวงทางไซเบอร์ใน 13 ประเทศทั่วภูมิภาคสูงถึง 688,420 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนหนึ่งอาจเพราะเทคโนโลยี AI ที่ใช้ในวงกว้างทำให้สถานการณ์การหลอกลวงในภาคธุรกิจมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จึงได้คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมต่อต้านการหลอกลวงทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 129,200 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2572 จากความต้องการของรัฐบาลและธุรกิจทั่วโลกในการแสวงหาเครื่องมือเพื่อปกป้องภัยจากมิจฉาชีพ
ขณะเดียวกัน ทาง Gogolook ยังร่วมมือกับ ScamAdviser เพื่อต่อยอดโซลูชันสำหรับ SME และองค์กรขนาดใหญ่ ให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์นี้ทำให้บริษัทมีข้อมูลต่อต้านการหลอกลวงที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยหมายเลขโทรศัพท์กว่า 2,600 ล้านเลขหมาย รวมถึง โดเมน (domain) ที่อันตราย รายชื่อ URL ลิงก์ที่มีความเสี่ยง ลิสต์สกุลเงินดิจิทัล และกระเป๋าเงินดิจิทัล กว่า 60 ล้านรายการ ที่นอกจากช่วยให้บริษัทสร้างฐานข้อมูลในการต่อต้านการหลอกลวงทางดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังช่วยให้บริษัทสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาผสานเข้ากับความเชี่ยวชาญด้าน AI มาวิเคราะห์ และจำลองรูปแบบการหลอกลวง เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะช่วยป้องกันการหลอกลวงองค์กรที่เหนือระดับ และขยายโอกาสในการดำเนินธุรกิจไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วโลก
ปัจจุบันโซลูชันสำหรับธุรกิจประกอบด้วย Anti-Scam Intelligence (ASI Solutions), บริการ Watchmen Reputation Protection Service และบริการ Identity Suite
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีลูกค้าองค์กรและ SME ในภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่โลจิสติกส์ สถาบันการเงิน ประกันภัย และอสังหาริมทรัพย์ กว่า 100 บริษัทลงทะเบียนเพื่อยืนยันหมายเลขธุรกิจบน บริการ Whoscall Verified Business Number และในอนาคตมีแผนที่จะขยายบริการไปยังภาคเทคโนโลยีทางการเงิน และนำเสนอโซลูชันเพื่อป้องกันภัยจากอาชญกรรมไซเบอร์ให้เข้ากับความต้องการของภาคธุรกิจต่างๆ ทั้ง สถาบันการเงิน โทรคมนาคม และผู้ให้บริการทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ต
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : SAWAD มั่นใจสินเชื่อปี 67 ยังโต 10-15% เปิดตัวแอป ‘ศรีสวัสดิ์’ คาดปีหน้าลูกค้าใหม่ขอสินเชื่อได้
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine