ก.ล.ต. พร้อมหนุนคลังออก G-Token ยัน 'ใช้แทนเงิน' ไม่ได้ รอสบน.เคาะรายละเอียด - Forbes Thailand

ก.ล.ต. พร้อมหนุนคลังออก G-Token ยัน 'ใช้แทนเงิน' ไม่ได้ รอสบน.เคาะรายละเอียด

กลางเดือนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวิธีกู้เงินจากประชาชนรูปแบบใหม่ผ่าน Government Token หรือ G-Token ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาแทนการออกพันธบัตรแบบเดิมของรัฐบาล คาดว่าวงเงินจะอยู่ที่ราว 5,000 ล้านบาท แต่เมื่อเป็นโทเคนดิจิทัลทำให้เรื่องนี้ยังต้องร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่มีอำนาจดูแลเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล


    ล่าสุด ‘พรอนงค์ บุษราตระกูล’ เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ก.ล.ต. พร้อมสนับสนุนการออก G-Token เพราะมองว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับประชาชน ผ่านการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มการเข้าถึงการออมและการลงทุนอย่างทั่วถึง

    ทั้งนี้ G-Token ไม่ใช่ทั้ง Investment Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน) หรือ Utility Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์) แต่เป็นโทเคนดิจิทัลที่กระทรวงการคลัง (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน.) ออกมา ซึ่งจะระบุให้มีการกำหนดสิทธิให้ผู้ถือได้รับคืนเงินต้นและผลตอบแทนตามที่กำหนด ซึ่งหากทันกรอบเวลาการทำงบประมาณปีนี้ตามที่ สบน. ระบุไว้คาดว่าจะออกมาในช่วง ก.ค. - ส.ค. 2568 นี้

    ที่ผ่านมาการออกพันธบัตรของกระทรวงการคลังที่ออกในตลาดแรก ก.ล.ต. จะไม่ได้เข้าไปกำกับดูแล และเมื่อ G-Token เข้าสู่การซื้อขายในตลาดรอง ภายใต้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ที่ ก.ล.ต. จะมีบทบาทในการกำกับดูแลในส่วนนี้

    เบื้องต้นในวันที่ 26 พ.ค. 68 ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง และราว 15 วันจะนำผลการรับฟังฯ ที่ได้มาประกาศเพื่อรับรองการออก G-Token แต่การเริ่มบังคับใช้ยังต้องรอประกาศที่ชัดเจน และการบังคับใช้จากทาง สบน. รวมถึงกระทรวงการคลังที่ต้องระบุถึงนรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นประกาศของ ก.ล.ต. จะเริ่มบังคับใช้ตาม

    อย่างไรก็ตาม มองว่า ด้านความเสี่ยงของ G-Token ในฐานะเครื่องมือการลงทุนแบ่งได้ 3 ด้าน

    1) Credit Risk เมื่อกระทรวงการคลังเป็นผู้ออกโทเคนดังกล่าว มองว่าความเสี่ยงอาจต่ำกว่าในตลาด

    2) Market Risk ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นตามภาวะตลาด

    3) Interest Rates Risk ขึ้นอยู่กับความผันผวนในตลาด รวมถึงรายละเอียดของ G-Token ที่สบน. จะออกมาเพิ่มเติม เช่น อายุ ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลต่อความเสี่ยง และอัตราผลตอบแทนได้

    ทั้งนี้ ก.ล.ต. ยังย้ำว่า ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ (MOP) ซึ่ง G-Token ไม่สามารถใช้แทนเงินหรือเป็น MOP ได้โดยในบริบทปัจจุบันมองว่ายังมุ่งเน่นในการส่งเสริมด้านดิจิทัล และการออมเป็นหลัก

    ส่วน G-Token ที่คาดว่าจะออกในวงเงิน 5,000 ล้านบาท การเริ่มต้นเรื่องใหม่ๆ การเริ่มที่ขนาดไม่ใหญ่มากจะสามารถควบคุมได้ดี แต่ยังคงเน้นย้ำว่า การออก G-Token นี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน ในด้านสภาพคล่อง และเป็นทางเลือกในการลงทุน



ภาพ: ก.ล.ต. 



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : รัฐบาลไทยเผยวิธีกู้เงิน-ระดมทุนใหม่เปิดตัวโทเคนดิจิทัล ‘G-Token’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine