สภาธุรกิจตลาดทุนไทย คาดตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวปี 2564 มีปัจจัยบวกหนุน หลังปีนี้ต่างชาติขายสุทธิกว่า 3 แสนล้านบาท ดัชนีพลิกมาปิดที่ระดับ 1,300 จุด ขณะที่คาดการณ์ดัชนีเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 61.27 ปรับตัวลดลงร้อยละ 9 ต่ำสุดรอบ 8 เดือน
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 2564 มีโอกาสฟื้นตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากทิศทางกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ที่คาดว่าจะสามารถกลับมาเติบโตได้ในระดับร้อยละ 40 จากปีนี้ที่ลดลงไปในระดับที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้คาดว่าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จะมีความชัดเจนขึ้นจากการที่เริ่มมีการทดลองใช้ในบางประเทศ “จากสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะทำให้มีการเปิดประเทศกันมากขึ้น รวมถึงแต่ละประเทศจะมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะมีโอกาสฟื้นตัว” ไพบูลย์กล่าว ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประเมินว่าในช่วงสิ้นปีมีโอกาสเห็นดัชนีแตะระดับ 1,300-1,350 จุด เนื่องจากตลาดน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การเมืองในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นชั่วคราว หลังจากรัฐบาลมีความพยายามแก้ไขปัญหา โดยการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์และการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกให้ความขัดแย้งของประเทศและการชุมนุมที่ไม่รุนแรงเหมือนในช่วงแรกๆ นอกจากนี้ จากการประมาณการของนักวิเคราะห์ พบว่า บางส่วนเริ่มปรับประมาณการในปีหน้าเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและเชื่อว่าแนวรับที่ระดับ 1,200 จุด เป็นจุดรับที่ถือว่าแข็งแกร่ง และมีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามา จากปีนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ในเดือนตุลาคม 2563 พบว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้าดัชนีอยู่ที่ระดับ 61.27 ปรับตัวลดลงร้อยละ 9 จากเดือนก่อนหน้า และยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม และถือเป็นค่าดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ทั้งนี้ นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและการไหลเข้าออกของเงินทุน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงความกังวลต่อการระบาดระลอกสองของ โควิด-19 สำหรับผลสำรวจของนักลงทุนรายกลุ่ม พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลงมาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลงร้อยละ 2.2 อยู่ที่ระดับ 78.57 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงร้อยละ 37.5 อยู่ที่ ระดับ 62.50 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวลดลงร้อยละ 8.7 อยู่ที่ระดับ 62.50 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลงร้อยละ 6.7 อยู่ที่ระดับ 40.00 ไพบูลย์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนตุลาคม 2563 SET index ปรับตัวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 1,247.59—1.263.99 จุด และปรับตัวลงในช่วงครึ่งเดือนหลังในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังจากความไม่คืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐ และจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศหลักๆ ในยุโรปและอเมริกากลับมาเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศไทยยังโดนแรงกดดันจากความร้อนแรงของสถานการณ์การเมืองในประเทศ มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,194.95 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 3.40 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐระดมออกมาอย่างต่อเนื่อง และการขยายระยะเวลาโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ทิศทางเศรษฐกิจหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ การเจรจาการค้าระหว่าง UK และ EU เพื่อหาข้อตกลงก่อนที่จะจบ Transition period ในปลายปีนี้ ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ความยืดเยื้อของการชุมนุมทางการเมือง และการประกาศผลประกอบการไตรมาสสามของบริษัทจดทะเบียน อ่านเพิ่มเติม: “บอสตัน คอสซัลติ้ง กรุ๊ป” เผยธุรกิจไทยต้องเร่งปฏิรูปด้านดิจิทัลไม่พลาดบทความด้านกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจ ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine และ ทวิตเตอร์ Forbes Thailand