SCB EIC ประเมินอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปี 68 โต 2.8% แม้เศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง-จีนชะลอตัว - Forbes Thailand

SCB EIC ประเมินอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปี 68 โต 2.8% แม้เศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง-จีนชะลอตัว

SCB EIC ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 2.8YoY เพราะความต้องการตลาดโลกยังเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเปราะบางและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ในส่วนของไทย ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลง Global value chain ส่วนครึ่งปีหลัง 2568 ไทยอาจยอดขายฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ มีแนวโน้มชะลอลง เป็นผลจากคำสั่งซื้อที่ลดลงตาม IT cycle ขาลง


    ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า ปี 2567 นี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 2566 โดยคาดว่าจะขยายตัว 2.4%YOY จากปัจจัยหนุนของวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าคอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อปี 2568 อีกด้วย

    ทั้งนี้ ในปี 2568 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะขยายตัวที่ 2.8%YOY ส่วนหนึ่งเพราะความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มไฟฟ้ากำลัง (Power electronics) ขณะที่ความต้องการในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้


    สำหรับกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี คือ

    1.1 กลุ่มไฟฟ้ากำลัง หรือ Power electronics คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2568 จะเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ประมาณ 4.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (YOY) โดยมีแนวโน้มที่ความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ สินค้าที่มีความต้องการสูงได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า แผงสวิตช์ และสายไฟ/สายเคเบิล

    1.2 กลุ่ม Consumer electronics คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2568 จะเติบโตประมาณ 2.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (YOY) ซึ่งสอดคล้องกับช่วงขาขึ้นของตลาดและความต้องการคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า

    1.3 กลุ่มอื่นๆ ได้แก่

    - อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2568 จะเติบโตประมาณ 3.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YOY) ปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตนี้มาจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่เริ่มกลับมามากขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

    - อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2568 จะเติบโตประมาณ 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YOY) สอดคล้องกับทิศทางตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์โลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีนี้

    - อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2568 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ซึ่งจะเติบโตอยู่ที่ 1.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YOY) ปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนการเติบโตนี้มาจากการส่งออกสินค้า เช่น เครื่องปรับอากาศและเครื่องซักผ้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

    ขณะที่ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากแรงส่งของกลุ่มคอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการสินค้าคอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์โลกที่กลับมาฟื้นตัวตามวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (IT cycle) แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 ยอดขาย ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ มีแนวโน้มชะลอลง เป็นผลจากคำสั่งซื้อที่ลดลงตาม IT cycle ขาลง

    ทั้งนี้ แนวโน้มปี 2568 คาดว่ามูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 2567 โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.0%YOY หลังจากหดตัวในปีนี้จากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา 

    อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเปราะบางและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคบางส่วน นอกจากนี้ยังมีความท้าทายหลัก ได้แก่

    - การเปลี่ยนแปลงของ Global value chain ครั้งใหม่ จากความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลให้เกิดกระแสการย้ายฐานการผลิต

    - แนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยกำลังเติบโต ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการสินค้าที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น

    - เทรนด์รักษ์โลกกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งในด้านการปรับกระบวนการผลิต การใช้วัสดุรีไซเคิล และการวางแผนการพัฒนาองค์กรที่เน้นความยั่งยืน

    จากปัจจัยเหล่านี้ SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ ทั้งการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวมากขึ้น การส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานที่มีทักษะสูง รวมถึง การส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตระดับต้นน้ำมากขึ้น ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ระดับต้นน้ำที่มีมูลค่าเพิ่ม (High value-added) มากขึ้น



ภาพ: SCB EIC



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ออมสินส่งแอปสินเชื่อของรัฐ ‘GOOD MONEY’ ปักธงลดหนี้นอกระบบ ปีแรกปล่อยสินเชื่อ 1-2 แสนล้านบาท

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine