CIMBT มองเศรษฐกิจไทย ‘ซึมยาว’ ศักยภาพเหลือโต 3% มองเงินดิจิทัลช่วยแค่ระยะสั้น - Forbes Thailand

CIMBT มองเศรษฐกิจไทย ‘ซึมยาว’ ศักยภาพเหลือโต 3% มองเงินดิจิทัลช่วยแค่ระยะสั้น

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองเศรษฐกิจไทย ‘ซึมยาว’ ปี 2567 นี้โตแค่ 2.3% ถึงมี Digital Wallet อาจช่วยระยะสั้นให้ GDP ไทยปีนี้โตเพียง 2.5% ห่วง SME ยังเหนื่อย พ่วงต้องจับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง ย้ำศักยภาพการขยายตัวเศรษฐกิจไทยต่ำ 3% แล้วจึงต้องเร้งปรับโครงสร้าง


    ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ ‘ซึมยาว’ ในปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัวที่ 2.3% และปี 2568 จะฟื้นมาที่ 3.2% แต่ด้วยระดับศักยภาพของไทยลดเหลือ 3% จึงมองว่าหลังจากนั้น GDP ไทยจะลดลงต่อเนื่องไม่เติบโตเกิน 3% เนื่องด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการสร้างรายได้ของไทยลดลง สังคมสูงวัย ขาดแคลนแรงงาน ขาดการเพิ่มทักษะ ปัญหาด้าน Productivity หรือ ผลิตภาพทางการผลิต ที่ฉุดศักยภาพในระยะยาว

    ทั้งนี้ แม้ว่าปีนี้อาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง Digital wallet แต่อาจช่วยเพิ่ม GDP ปีนี้ให้ขยายตัวเป็น 2.5% เท่านั้น และเป็นเพียงการกระตุ้นที่มีผลระยะสั้น ในช่วงปลายปีนี้หรืออาจจะถึงต้นปีหน้า ดังนั้นจึงหวังว่า รัฐบาลจะมีมาตรการเพิ่มเติมที่เน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย สร้างการจ้างงานในระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มทักษะแรงงาน ที่จะเพิ่มศักยภาพให้เศรษฐกิจไทย

    “หวังว่านอกจากกระตุ้นระยะสั้นแล้ว จะเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ไปเป็นเรื่องดิจิทัล เรื่องการขยายฐานภาษี เรื่องการใช้จ่ายนวัตกรรมต่างๆ จะน่าสนับสนุน เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจจะแจกเงินก็ได้ แต่แจกแล้วจบ ไม่ได้เกิดการจ้างงาน ตรงนี้เป็นจุดนึง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินเยอะขนาดนี้” ดร. อมรเทพ กล่าว

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย CIMBT


    ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2567 นี้คาดว่าว่าจะเติบโตที่ 2.3% แม้จะมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยว (คาด 35.6 ล้านคน) ส่งออก บริโภคเอกชน และการส่งออกที่ต่างฟื้นตัว แต่ในภาพรวมยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ได้แก่

    ข้อแรก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นและอาจสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง - ยูเครน รุนแรงขึ้น ปัจจัยนี้ทำให้ต้นทุนขนส่งสินค้าทางเรือจะสูงขึ้น ส่วนความขัดแย้งระหว่างจีน - ไต้หวัน หรือเกาหลีเหนือ - เกาหลีใต้ อาจกระทบห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิต

    ข้อสอง การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ (5 พ.ย. 67) ที่อาจเห็นสะท้อนทิศทางนโยบายการค้าโลก

    ข้อสาม อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูงและลากยาว โดยต้องจับตาว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับลดลงในช่วง ก.ย. ธ.ค. ตามคาดหรือไม่ (มาสู่ 5.00% ในช่วงปลายปี 67) ซึ่งจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน

    และส่วนสุดท้าย คือ ภาคการผลิตอาจหดตัวต่อเนื่อง จากปัญหาหลายด้าน ทั้งขาดสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ขาด FDI หรือเติบโตรั้งท้ายในภูมิภาค หรือสินค้าจีนทะลักทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้

    “จากการที่จีนยังคงระดับการผลิตสินค้าเพื่อรักษาระดับการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจแม้อุปสงค์ในประเทศชะลอและเผชิญสงครามการค้ากับชาติตะวันตก ซึ่งที่จริงจีนน่าจะผลิตลดลง แต่กลับนำผลผลิตส่วนเกินมาระบายในตลาดอาเซียนโดยเฉพาะไทย หากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง ภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะโรงงานในกลุ่ม SMEs ที่ขาดความสามารถในการแข่งขันอาจต้องปิดตัวลงจนกระทบการจ้างงานและการบริโภคของคนไทยอีกทอดหนึ่ง ซึ่งหวังว่ารัฐบาลไทยจะมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาและเร่งให้ SMEs ไทยปรับตัวได้ในไม่ช้า” ดร.อมรเทพ กล่าว

    ดังนั้นมองว่ากรณีสินค้าจีนทะลัก ควรมีมาตรการเข้ามาดูแล เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) ในสินค้าที่ตรวจสอบแล้วว่าได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่กดราคาสินค้าให้ต่ำ ซึ่งหากเพียงแค่ไทยไม่เพียง ยังคงมีอาเซียนที่จะให้ความร่วมมือได้ ที่สำคัญคือ มาตรการตรวจสอบและจัดการขบวนการจีนเทา เช่น การใช้ Nominee มีคนไทยเป็นตัวแทนในการทำธุรกิจ ต้องมีมาตรการควบคุม จัดระเบียบ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ไม่ให้กระทบต่อ SME ไทย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เปิดมุมมองผู้ว่าแบงก์ชาติ ทำไมศักยภาพเศรษฐกิจไทยโตเหลือ 3% มองดอกเบี้ยปัจจุบัน ‘เหมาะสม’ แล้ว

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine