จับตา 16 ต.ค.! ศูนย์วิจัยคาดแบงก์ชาติยังไม่ลดดอกเบี้ยฯ แต่อาจส่งสัญญาณ ‘หั่นจริง’ ในรอบ ธ.ค. 67 - Forbes Thailand

จับตา 16 ต.ค.! ศูนย์วิจัยคาดแบงก์ชาติยังไม่ลดดอกเบี้ยฯ แต่อาจส่งสัญญาณ ‘หั่นจริง’ ในรอบ ธ.ค. 67

หลายฝ่ายต่างจับตามองการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 ต.ค. 67 นี้ ว่าจะตัดสินใจ ‘ลด’ อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่ หลังจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกเริ่มปรับสู่ขาลง แต่ 3 ศูนย์วิจัยทั้ง CIMBT กสิกรไทย และ SCB EIC ยังมองว่ารอบ 16 ต.ค. นี้ กนง. ยังไม่ลดดอกเบี้ย และอาจเริ่มหั่นดอกเบี้ยฯ ลงในเดือน ธ.ค. 67


    ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ Forbes Thailand ว่า แม้ว่าทิศทางของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และเงินบาทที่แข็งค่า เป็นปัจจัยที่หนุนให้กนง. สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในการประชุมครั้งก่อนหน้า แต่ยังมองว่าในการประชุม กนง. วันที่ 16 ต.ค. 2567 นี้คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในการประชุมครั้ง ธ.ค. 2567 นี้ลง 0.25% มาสู่ระดับ 2.25% โดยเชื่อว่า กนง. ยังรอติดตาม 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

    1. การเลือกตั้งสหรัฐ ในวันที่ 5 พ.ย. ที่จะบ่งชี้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป

    2. ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2567 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะเติบโตที่ 3.0% แต่ทางสำนักวิจัย CIMBT คาดว่าจะเติบโต 2.2% เนื่องจากมีผลกระทบจากน้ำท่วมและเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ

    3. เงินเฟ้อ โดยต้องติดตามผลจากเม็ดเงินที่รัฐบาลแจกออกไปจะกระตุ้นเงินเฟ้อหรือไม่ แต่คาดว่าเมื่อไม่ใช้การแจกเงินแบบหว่านแหคาดว่าจะไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน และเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย


    ขณะที่ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในทิศทางเดียวกันว่า ในการประชุมฯ กนง. วันที่ 16 ต.ค. 2567 นี้ คาดว่า กนง. ยังมี ‘มติไม่เป็นเอกฉันท์’ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อเนื่อง แต่คาดว่ากนง. คงมีท่าทีผ่อนคลายต่อทิศทางนโยบายการเงินมากขึ้น โดยส่งสัญญาณเปิดโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองความเป็นไปได้ว่ากนง. อาจเริ่มปรับลดดอกเบี้ยอย่างเร็วสุดในเดือน ธ.ค. 2567 เนื่องจาก

    1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างเปราะบางและเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

    2. แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 4/2567 มีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบล่างของเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% ในภาพรวมทั้งปี 67 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5%

    3. ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักทั่วโลกอยู่ในฝั่งผ่อนคลาย โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ใน 2 การประชุมที่เหลือในปีนี้ หลังจากมีมติปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ลงมาอยู่ที่ 4.75-5.00% ในการประชุม FOMC เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทเผชิญแรงกดดันให้แข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้และสัดส่วนการทำกำไรของผู้ส่งออกไทย


    อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กนง. ครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธปท. อาจยังคงประมาณการเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อไทยปี 2567 ไม่ต่างจากประมาณการครั้งก่อน (มิ.ย. 2567) โดยธปท. คาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.6% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.6% ทว่ามีความเป็นไปได้ที่ ธปท. อาจปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 จากประมาณการครั้งก่อนหน้าที่ 3.0% ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น

    สุดท้ายนี้ด้าน ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า คณะกรรมการนโนยานการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ธ.ค. 2567 และต่อเนื่องช่วงต้นปีหน้าไปอยู่ที่ 2% จากสัญญาณอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะการเงินตึงตัวนาน จากสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่วน GDP ปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.5%



Photo by Waranont (Joe) on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ตลาดหุ้นไทยเดือน ก.ย. 67 ปิด 1,448.83 จุด เพิ่มขึ้น 6.6% เพิ่มสูงสุดนับจาก ส.ค. 64

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine