CIMB THAI มองอาเซียนยังเติบโตได้ เพราะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน อาจกลายเป็นโอกาสให้เกิดการค้ากับอาเซียนมากขึ้น มอง 3 ประเทศน่าลงทุน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ โดยมุ่งใน 4 Mega Trend ‘ความยั่งยืน-AI-ความมั่นคงทางอาหาร-พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่‘
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แม้ทั่วโลกยังมีความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า แต่คาดว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นไม่แตกต่างนัก สาเหตุเพราะตั้งแต่เกิดสงครามการค้า สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนลดลงเรื่อยๆ ซึ่งอาเซียนได้รับอานิสงส์เพราะเมื่อจีนส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ อิทธิพลการค้าจีนกับอาเซียนเพิ่มเป็นทวีคูณ ขณะเดียวกัน อาเซียนหลายประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากขึ้น แม้แต่สิงคโปร์ที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐก็ขาดดุลลดลง ส่วนสหรัฐก็ขาดดุลการค้ากับอาเซียนมากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ดี หากอาเซียนรับมือกับสงครามการค้าครั้งใหม่ได้ไม่ดีพอ การค้าโลกที่มีความเสี่ยงจะลดลงอาจกระทบกับการค้าและการเชื่อมโยงด้านการลงทุนของอาเซียนได้ ทั้งนี้ ประโยชน์และผลกระทบที่แต่ละประเทศจะได้รับขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในของแต่ละประเทศ เช่น ความสามารถในการแข่งขัน ความน่าดึงดูดในการลงทุน และสิ่งอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ
ขณะที่ในปี 2566 ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั่วโลก ลดลง 2% สู่ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าพิจารณาไส้ใน พบว่า FDI ในประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้น 1% เป็น 2.26 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สิงคโปร์เป็นประเทศที่ได้รับ FDI มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย (ตามรายงานการลงทุนโลกปี 2567 โดย UNCTAD) สะท้อนว่าโลกกำลังย้ายฐานการผลิตมา ASEAN
วุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ทำให้การพึ่งพาทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนลดลง และหันมาทำการค้ากับประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพมากขึ้น และเชื่อว่าเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ทำธุรกิจกับคู่ค้าใหม่ๆ ในตลาดโลกมากขึ้น และอาจขยายการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน
ประเทศปลายทางที่น่าลงทุนที่สุดตอนนี้ ได้แก่
- มาเลเซีย โดดเด่นในภาคบริการและการผลิตสินค้าที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต โดยปี 2566 มีเงินลงทุนไหลเข้ามาเลเซียกว่า 3.29 แสนล้านริงกิต เติบโตสูงขึ้น 23% จากปีก่อนหน้า นับเป็นมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ส่วนสินค้าส่งออกของมาเลเซียหลักๆ คือ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปาล์ม และอุปกรณ์โทรคมนาคม
- อินโดนีเซีย มีจุดเด่นเรื่องของการเติบโตของประชากรที่ปัจจุบันมีกว่า 280 ล้านคน และมีการเติบโตของ GDP อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแนวโน้มความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2566 อินโดนีเซียบันทึกเงินลงทุนไหลเข้า จำนวน 4.75 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6% โดยแหล่ง FDI ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียได้แก่ สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง โดยอุตสาหกรรมโลหะพื้นฐานได้รับ FDI เยอะที่สุด สินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซีย คือ ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม เหล็กและเหล็กกล้า
- สิงคโปร์ ที่เป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าของภูมิภาค ในปี 2566 สิงคโปร์ มี FDI มูลค่าสูงถึง 2.14 แสนล้านเหรียญสิงคโปร์ เติบโต 10% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของทุนจดทะเบียนและกำไรสะสม โดยประเทศที่มีการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง โดยส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุดของ FDI อยู่ในภาคบริการทางการเงินและการประกันภัย ส่วนสินค้าส่งออกหลัก คือ ปิโตรเลียม เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์
สำหรับ ประเทศไทย ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2567 นักลงทุนต่างชาติและในประเทศยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มขึ้น 35% มูลค่ารวม 4.58 แสนล้านบาท โดยในครึ่งแรกของปี 2567 ภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ครองอันดับหนึ่งด้วยมูลค่าการลงทุน 1.39 แสนล้านบาท (30.5% ของมูลค่าการขอลงทุนรวมของ BOI) รองลงมาคือภาคยานยนต์ 3.99 หมื่นล้านบาท (8.7% ของมูลค่ารวม) และเกษตรกรรมขั้นสูง 3.31 หมื่นล้านบาท (7.2% ของมูลค่ารวม)
ในส่วนของ Mega Trend ที่น่าจับตามองในช่วงนี้มี 4 กลุ่มหลักได้แก่
1. Sustainability หรือการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยที่ผ่านมาเราจะเห็นตลาดเกิดใหม่ไม่ว่าในเรื่องของพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า หรือผลิตภัณฑ์รีไซเคิล เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถนำมาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการผลิตได้ในทุกภาคส่วน ทำให้เกิดความต้องการที่เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง
3. Food Security หรือความมั่นคงทางอาหารเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ประเทศใหญ่ๆ หันมาให้ความสำคัญกันมากโดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรและการเติบโตของประชากรสูง
4. Consumer Behavior หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่เน้นเรื่องของความสะดวกรวดเร็วและเข้าถึงแหล่งข้อมูลของสินค้าที่ต้องการโดยง่าย ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้เหมาะกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
ปนิดา ตั้งศรีวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันการเงินประเทศไทย และ CLMV ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เพื่อการขยายธุรกิจอย่างราบรื่น ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ในการเคลื่อนย้ายเงินทุน และทุกๆ ด้านซึ่ง CIMB Group ที่มีเครือข่ายในอาเซียนจึงมีความเชี่ยวชาญในประเทศอีกด้วย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : บริษัท Berkshire ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ทุบสถิติใหม่ถือเงินสด 2.77 แสนล้านเหรียญ หลังเทขายหุ้น Apple 49%
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine