ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เร่งสร้างการเติบโตด้าน wealth management ควบคู่ตอบโจทย์ลูกค้านิยมลงทุนต่างแดน ตั้งเป้าเพิ่ม AUM อีก 25% และมีฐานลูกค้าขยับเป็น 75,000 ราย ภายในปีนี้ ส่วนภาพรวมหวังขยายสินเชื่อและเงินฝากให้เติบโตประมาณ 5% พร้อมคุม NPL ไม่เกิน 5%
Fast Forward เป็นโครงการที่เริ่มเดินหน้าตั้งแต่ปี 2561-2562 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเป็นธนาคารระดับกลางที่แข็งแกร่งที่สุดด้านอาเซียนในประเทศไทย หลังจากมีการปรับฐานและปรับกระบวนการทำงานเมื่อปี 2560 จนสุดท้ายแล้วธนาคารจะมีต้นทุนที่ต่ำลงหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยลงแรงเท่าเดิม
จากการเปิดเผยของ
กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ที่ย้ำว่า
“ปีที่แล้วธนาคารได้ปรับฐานภายใน โดยค้นหาวิธีที่เพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน คู่ไปกับพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ส่วนในปี 2561 ธนาคารเข้าสู่โครงการ Fast Forward เต็มตัว และจะทยอยทำตามแผนที่วางไว้ แม้อาจไม่เห็นกำไรที่พุ่งขึ้นทันที แต่จะเริ่มส่งผลในปลายปี 2562-2563 ที่ผลประกอบการดีขึ้นเป็นลำดับ”
สำหรับเป้าหมายปี 2561 ธนาคารจะขยายสินเชื่อและเงินฝากให้เติบโตประมาณ 5% และจะรักษาระดับ NIM (net interest margin) ให้อยู่ราวๆ 3.8% พร้อมกับควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่เกิน 5%
“เราอยากโตแบบดูตาม้าตาเรือ โดยสร้างพอร์ตที่มีคุณภาพ และเน้นเรื่องการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด”
ทั้งนี้ หนึ่งในธุรกิจที่ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ทำผลงานได้อย่างดีตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ ธุรกิจรายย่อย ซึ่งด้านบริหารความมั่งคั่งหรือ wealth management สำหรับกลุ่ม CIMB Preferred หรือลูกค้าบุคคลธนกิจที่มีเงินฝากหรือเงินลงทุน ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป
โดยเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารให้ความสำคัญจนเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายหลักของตลาด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ซับซ้อนและตอบความต้องการของลูกค้าที่ต้องการทางเลือกใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นจากฝั่งธุรกิจบริหารเงิน
“จากที่เรามีลูกค้ากลุ่ม CIMB Preferred อยู่ที่ 12,000 ราย ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 65,000 รายแล้ว”
อดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยถึงการเติบโตของธุรกิจ wealth management อีกว่าปัจจุบันธนาคารมีสินทรัพย์ภายใต้การดูแล (Asset Under Management: AUM) ในส่วนของ wealth management อยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท โดยลูกค้ามีเงินลงทุนเฉลี่ยกับธนาคารมากกว่า 3 ล้านบาทต่อราย
อย่างไรก็ตาม จุดที่ธนาคารมุ่งสร้างความแตกต่างเพื่อให้บริการ wealth management ตอบโจทย์ของลูกค้าคือผลิตภัณฑ์ และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ โดยหวังขยาย AUM เพิ่มขึ้นอีก 25% ในปีนี้ และมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 75,000 คน
“เราไปค้นหาแล้วพบว่า ที่ลูกค้าเกลียดคือวิธีการขายประกันที่ไม่บอกข้อมูลทั้งหมด และไม่ได้บอกว่าแต่ละกรมธรรม์ดีกับลูกค้าแต่ละรายอย่างไร”
ทั้งนี้อดิศรเปิดเผยอีกว่าจุดเด่นของด้าน wealth management ใน 3 ปีที่ผ่านมา คือ การพยายามนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เช่น ตราสารอนุพันธ์ หุ้นกู้อนุพันธ์ ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่มักจะเลือกไปขายให้กับนักลงทุนสถาบัน แต่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เลือกที่จะมาขายให้แก่ลูกค้ารายย่อยและพยายามให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ลูกค้าที่ลงทุนตั้งแต่ 5-10 ล้านบาทขึ้นไป จนมีการตอบรับต่อผลิตภัณฑ์ที่แม้จะมีความซับซ้อนเหล่านี้ได้ดีมากๆ
“ปีนี้จะเน้นเรื่องการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่ม wealth management เช่น กองทุน ขณะที่แนะนำลูกค้าให้แก่เครือข่ายของกลุ่มธนาคารซีไอเอ็มบีในต่างประเทศที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันในต่างประเทศแก่ฐานลูกค้าของเรา”
เช่นเดียวกับที่ทางธนาคารเองก็ให้น้ำหนักกับการเพิ่มพูนประสบการณ์ของฝั่งคนขายผลิตภัณฑ์ไปด้วยพร้อมๆ กัน ว่าก่อนนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้าน wealth management จะต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้าก่อนเป็นอันดับแรก
ปัจจุบันธนาคารมีพนักงานที่ให้คำปรึกษาในการลงทุนรวม 200 คน โดยในปี 2561 ตั้งเป้าจะเพิ่มพนักงานส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก 150-200 คน
“เรื่อง wealth management เป็นเป้าหมายที่สำคัญของผมที่จะต้องทำรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตขึ้น 25%”
สำหรับแนวทางในส่วนอื่นๆ ของฝั่งรายย่อยนั้น ธนาคารให้ความสำคัญกับเรื่อง digital banking และเตรียมการที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ โดยคาดว่าภายในกลางปีนี้น่าจะมีแอพพลิเคชั่นออกมาให้ลูกค้าได้ทดลองใช้
ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อรายย่อยของธนาคารในปี 2561 มองว่าจะยังขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาซึ่งคาดว่าพอร์ตสินเชื่อรายย่อยจะเติบโตราว 5-6% จากปีก่อน
“ปัจจุบันมีผู้เล่นหลายรายทำกันไปบ้างแล้ว เช่นเดียวกับที่ทางธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ก็จะมีผลิตภัณฑ์หลักๆ ในแบบเดียวกัน เช่น การชำระเงินกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่เรื่อง QR code แต่จุดเด่นที่จะเน้นคือด้านสมัครสินเชื่อรายย่อย”
ขณะเดียวกัน ในฝั่งของสินเชื่อรายย่อย ธนาคารเป็นที่จับตาของตลาดจากจุดแข็งของการเดินหน้าทำ risk based pricing ทำให้สามารถตอบแทนลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ดังนั้นธุรกิจรายย่อยถือเป็นตลาดที่ธนาคารมีศักยภาพในการแข่งขัน ธนาคารจะเดินหน้าบุกตลาดนี้ต่อไปภายใต้ความท้าทายที่มากขึ้นจากฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น
“ปี 2018 จะเป็นปีที่สำคัญของเราในการปรับฐานเพื่อให้แข็งแรงพร้อมออกไปสู้กับผู้เล่นอื่นๆ ในตลาดธนาคารพาณิชย์ของไทย” ยืนยันภารกิจหลักของธนาคารโดยกิตติพันธ์