หลายปีมานี้มีข่าวคราวที่ BTS หรือ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ประกาศทวงหนี้ ‘กรุงเทพมหานคร’ หลายครั้งผ่านการทำคลิป VDO ทวงหนี้ให้ประชาชนที่ใช้บริการได้ดูระหว่างนั่งรถ BTS จนล่าสุด (30 ก.ค.67) ที่ ‘คีรี กาญจนพาสน์’ ประธานกรรมการ ของ BTS มาแถลงข่าวด้วยตนเอง
ทั้งนี้ จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ให้ร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน - วงเวียนใหญ่ - บางหว้า และช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง (พ.ค. 62 ถึง พ.ค. 64) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ – คูคต (เม.ย. 60 ถึง พ.ค. 64) จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท
ทาง ‘คีรี กาญจนพาสน์’ ประธานกรรมการ BTS เล่าว่า BTS ใช้เวลา 3 ปีในการชี้แจงกรณีนี้ โดยคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางในการพิจารณาคดีในหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป
“BTS ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง จนได้รับความเป็นธรรมจากศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ปี” คีรี กล่าว ส่วนมูลหนี้ที่ยังคงค้างอยู่นั้น ทาง BTS พร้อมจะเจรจากับกทม. และ KT ในการหาทางออกร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ยอดหนี้คงค้างที่เกิดจาก ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสิ้นสุด ณ 25 ก.ค. 2567 ได้แก่ 39,402 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ยอดหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567 ที่ให้กทม. และ KT ร่วมกันชำระให้กับบีทีเอสเป็นเงินจำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท
- ยอดหนี้ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ให้กทม. และ KT ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับบีทีเอสของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 (หนี้ค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564 ถึง ต.ค. 2565) เป็นเงินจำนวนกว่า 11,811 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
- ยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2565 ถึง มิ.ย. 2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท
- ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นสุดสัมปทาน ปี พ.ศ. 2585 (ส่วนนี้ทาง BTS ไม่ได้ระบุยอดเงินไว้)
ภาพ: BTS
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ก.ล.ต. เร่งศึกษาตั้งกองทุนเยียวยาฯ ชดเชยความเสียหายนักลงทุน ส่วน Thai ESG พร้อมปรับเกณฑ์แล้ว
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine