แบงก์ชาติเผย เศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค. 67 ชะลอลง แต่ทิศทางยังโต จับตาส่งออก-เบิกจ่ายรัฐ-ปัจจัยนอกประเทศ - Forbes Thailand

แบงก์ชาติเผย เศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค. 67 ชะลอลง แต่ทิศทางยังโต จับตาส่งออก-เบิกจ่ายรัฐ-ปัจจัยนอกประเทศ

ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงภาวะเศรษฐกิจไทย เดือน พ.ค. 67 ยังชะลอจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออก การลงทุนเอกชนยังลดลง ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว แต่มองว่าภาพรวมยังเติบโตได้ดี หวังการท่องเที่ยวช่วยพยุงในช่วงที่เหลือ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง การส่งออก การเบิกจ่ายรัฐจะออกมามากน้อยแค่ไหน และปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์


    สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางขยายตัว โดยชะลอลงบ้างหลังจากเร่งไปในเดือนก่อน ทั้งการส่งออกสินค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชน (เป็นผลจากการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง ที่ชะลอลง) แต่ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย

    ทั้งนี้ เดือน พ.ค. 2567 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลง หลังจากที่เร่งไปในเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะ

    1) ยานยนต์ ตามการส่งออกรถกระบะไปออสเตรเลีย

    2) เครื่องใช้ไฟฟ้า ตามการส่งออกเซลล์แสงอาทิตย์และเครื่องปรับอากาศไปยุโรปและสหรัฐฯ

    3) สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกน้ำตาลไปอาเซียน

    แต่การส่งออกสินค้าในบางหมวดปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ หมวดสินค้าเกษตรโดยเฉพาะทุเรียนไปจีน และผลิตภัณฑ์เคมีและเคมีภัณฑ์ไปจีน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการนำเข้าเชื้อเพลิง น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น (ด้านปริมาณ) ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลง โดยเฉพาะการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่อุปสงค์มีทิศทางชะลอตัว


    ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยปรับลดลงในหลายหมวด โดยเฉพาะ

    1) ปิโตรเลียม จากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นชั่วคราวเป็นสำคัญ

    2) ยานยนต์ โดยเฉพาะการผลิตรถกระบะ

    3) เครื่องใช้ไฟฟ้าหลังเร่งผลิตไปในเดือนก่อน

    อย่างไรก็ดี การผลิตในบางหมวดมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น อาทิ การผลิตในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามการผลิตน้ำมันปาล์มและอาหารสัตว์สำเร็จรูป

    ด้านการท่องเที่ยวของไทยใน เดือน พ.ค. 67 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะใกล้ (short-haul) โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวสัญชาติมาเลเซีย และจีน ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการรัฐ เช่น การยกเว้นวีซ่า และการยกเว้นการยื่นเอกสารสำหรับผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองทางบก

    เดือน พ.ค. 67 เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายหมวดบริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับกิจกรรมในภาคท่องเที่ยว ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนและไม่คงทนทรงตัว หลังยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและสินค้าอุปโภคบริโภคเร่งไปแล้วในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในประเทศ และเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า

    การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่เร่งขึ้น ภายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2567 โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษา ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษา กรมโยธาธิการและผังเมือง และโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจ

    ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด จากฐานค่าไฟฟ้าที่ต่ำในปีก่อน ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ และราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นตามการทยอยลดมาตรการของภาครัฐ ประกอบกับราคาเนื้อสัตว์และผักเพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง

    ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนทั้งในภาคบริการและการผลิต

    ทั้งนี้ แนวโน้มในระยะต่อไป มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคท่องเท่ี่ยว และหวังว่าการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจะกลับมา แต่คาดว่าการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะในบางอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้รายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง

    ดังนั้นระยะต่อไปต้องติดตาม 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) ผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐ 2) การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต และ 3) ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์




เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย. ดีขึ้น แต่ยังฟื้นไม่ทั่วถึง หวังไตรมาส 2 ขยายตัวต่อเนื่อง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine