เมื่อที่ประชุมแบงก์ชาติรอบล่าสุดเสียงแตกประกาศ ‘หั่น’ ดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี แต่จะเริ่มลดครั้งต่อไปเมื่อไร? - Forbes Thailand

เมื่อที่ประชุมแบงก์ชาติรอบล่าสุดเสียงแตกประกาศ ‘หั่น’ ดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี แต่จะเริ่มลดครั้งต่อไปเมื่อไร?

การประชุมครั้งล่าสุด (16 ต.ค. 67) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศมติ 5:2 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.50% ลงมาสู่ระดับ 2.25% ต่อปี ถือเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี และผิดจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่าจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกในการประชุมเดือน ธ.ค. 2567 เพราะกนง. อาจรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและโลกในช่วงเดือน พ.ย. ก่อน

    แต่สิ่งที่ตลาดและนักลงทุนต่างจับตามองคือ การลดอัตราดอกเบี้ยฯ ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อไร และจะเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาลงในรูปแบบใด


กนง. เสียงแตก 5:2 เสียง สั่งลดดอกเบี้ยบรรเทาภาระหนี้

    นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยผลการประชุม กนง. เมื่อ 16 ต.ค. 2567 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง แต่อีก 2 กรรมการมองว่าควรคงอัตราดอกเบี้ยฯ เพราะเป็นระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เพื่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว และรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

    ทั้งนี้ ปัจุจบันเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวใกล้เคียงที่ประเมินไว้ ในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.7% และปี 2568 อยู่ที่ 2.9% โดยมีปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยว บริโภคภาคเอกชน ได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะ SME ยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่วนคุณภาพสินเชื่อยังด้อยลง จากมาตรการแก้หนี้ และครัวเรือนที่รายได้ไม่ฟื้นตัวเต็มที่

    ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% ส่วนปี และ 2568 อยู่ที่ 1.2% โดยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การแข่งขันด้านราคาที่อยู่ในระดับสูงจากสินค้านำเข้า


หลังกนง. ลดดอกเบี้ย ‘ทองคำไทยพุ่ง-บาทอ่อน-ตลาดหุ้นขึ้น’

    หลังจากผลการประชุม กนง. 16 ต.ค. 2567 ประกาศออกมา เห็นตลาดตอบรับในหลายทาง ทั้งราคาทองคำไทยที่พุ่งขึ้นทันที โดยช่วง 14.03 น. ราคาทองคำแท่งขายออกในไทยเพิ่มขึ้น 100 บาทสู่ราคา 42,150 บาทต่อบาททองคำ (แต่หลังจากนั้นปรับตัวลดลงรวม 150 บาท หลังจากช่วงเช้าราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงการประกาศลดดอกเบี้ยฯ รวมที่ 300 บาท)

    ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยมาสู่ระดับ 33.38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากก่อนหน้าที่อยู่ 33.27 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนตลาดหุ้นไทยการปรับขึ้นจากระดับ 1,467 จุดมาอยู่เหนือระดับ 1,480 จุด จนปิดตลาดที่ระดับ 1,485.01 จุด



แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ กนง. หลังจากนี้

    ด้าน KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ยังคงมองว่า กนง. จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 2 ในไตรมาส 1 และ 2 ปีหน้าสู่ระดับ 1.75% (หลังจากประกาศปรับลดดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกในปี 2567) จาก 3 สาเหตุสำคัญ คือ

    1) อัตราดอกเบี้ยฯ ระดับปัจจุบันค่อนข้างสูงแล้วเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และระดับอัตราดอกเบี้ยในอดีต รวมถึงระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของประเทศพัฒนาแล้ว

    2) หนี้ครัวเรือนที่อยูในระดับสูงเริ่มมีสัญญาณปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น

    3) ภาวะทางการเงินโดยรวมมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น เป็นสัญญาณของผลจากนโยบายการเงิน คือ ดอกเบี้ยในภาคธนาคารปรับตัวสูงขึ้น การชะลอตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ และเงินบาทที่ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้นแม้จะมีส่วนจากปัจจัยพิเศษในระยะสั้น

    ส่วน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการประชุมครั้งหน้าในเดือน ธ.ค. 2567 มีโอกาสที่ กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง หากความกังวลของ กนง. เกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ยังไม่คลี่คลายลง แต่ถ้าธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดดอกเบี้ยตาม รวมถึงหากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามคาด อาจมีโอกาสที่กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งมองว่า กนง. ต้องพิจารณาข้อมูล (เศรษฐกิจ) ที่จะออกเพิ่มเติม และติดตามมาตรการทางการคลังที่อาจออกมาเพิ่ม

    สุดท้ายนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด อาจส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงิน รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้ากระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อมากกว่าที่ กนง. คาด ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : จับตา 16 ต.ค.! ศูนย์วิจัยคาดแบงก์ชาติยังไม่ลดดอกเบี้ยฯ แต่อาจส่งสัญญาณ ‘หั่นจริง’ ในรอบ ธ.ค. 67

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine