เศรษฐกิจไทยยังไม่พ้น ‘จุดต่ำสุด’ อ่านมุมมองผู้ว่าแบงก์ชาติ กับปัญหาที่ไทยต้องเจออีกนาน - Forbes Thailand

เศรษฐกิจไทยยังไม่พ้น ‘จุดต่ำสุด’ อ่านมุมมองผู้ว่าแบงก์ชาติ กับปัญหาที่ไทยต้องเจออีกนาน

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ซ้ำเติม ปัญหาดั้งเดิมของไทยทั้งหนี้ครัวเรือนรายได้ ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ ตอนนี้ไทยยังต้องเผชิญกับ การค้าโลกที่สร้างความผันผวนและความไม่แน่นอนในหลายมิติ


    ในมุมมองของ ‘ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 24 จะมีความเห็นต่อสถานการณ์ รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่ภาครัฐกำลังทำอย่างไร

‘จุดต่ำสุด’ ของพายุรอบนี้อาจจะเห็นหลังไตรมาส 4 ปี 68

    ล่าสุดในงาน Meet the Press ครั้งที่ 1 ของปีนี้ เศรษฐพุฒิ เล่าว่า เรื่องภาษีการค้ามาสร้างความไม่แน่นอนที่สูงมาก และมีหลายอย่างที่ยังไม่ค่อยชัดเจน ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดที่ออกประมาณการจึงออกมาถึง 2 ฉากทัศน์ซึ่งปกติเราไม่ทำ

    “ทุกอย่างที่คลุมเครือ ไม่แน่นอน มันไม่ได้ช่วยภาคธุรกิจภาคประชาชนในการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับมือ ดังนั้นวันนี้จะพยายามอาจจะฉายภาพในแบบเราพอที่จะดูออกท่ามกลางความไม่แน่นอนและสิ่งที่กำลังจะตามมา ข้างหน้าพายุกำลังมา”

    ผลของพายุลูกนี้ (การขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ) หรือ Shock ครั้งนี้จะไม่จบเร็ว และไม่เห็นผลกระทบเร็วนัก เพราะยังต้องรอผลการเจรจาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 จึงจะเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดขึ้น เห็นตัวเลขการค้าต่างๆ สะท้อนจากที่หลายคนมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหนักขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งถ้าหากถามถึงจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเห็นหลังจากไตรมาส 4 ปี 68 ที่ผลการเจรจาเรื่องภาษีชัดเจนขึ้น

    ทุกอย่างยังต้องใช้เวลาไปอีกกว่าจะคลี่คลาย ถึงแม้จะชะลออัตราภาษีฯ ใหม่ไป 90 วันแต่อาจไม่ได้ทำให้ภาพต่างๆ ชัดเจนขึ้นเพราะว่ายังมีอีกหลายประเทศที่ต้องเจรจา และภาคซัพพลายเชนต่างๆ ยังต้องทยอยปรับตัวซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปี หรือกลุ่มที่จะกระทบหนักคือคนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ สูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อ อาหารแปรรูป กลุ่มที่ส่งออกรวมไปสหรัฐฯ มีสัดส่วน 2.2% ของ GDP ประเทศไทย

    “อีกกลุ่มหนึ่งที่เรามองว่าจะกระทบเยอะคือ พวกที่อยู่ในซัพพลายเชนที่เราเองอาจจะไม่ได้ส่งต่อไปส่งไปที่สหรัฐฯ แต่ส่งต่อไปที่ประเทศอื่นแล้วก็ส่งต่อไปที่สหรัฐฯ อีกที"


กังวลสินค้านอกทะลัก ทำภาคผลิตไทยเหนื่อย

    ท่ามกลางปัญหาทางตรงที่ไทยต้องเร่งแก้ แต่ธปท. ยังมองว่ามีอีกเรื่องที่น่ากังวลคือ การสินค้าจากนอกประเทศที่ไหลทะลักเข้ามาในไทย เพราะช่วงที่ผ่านมาหากดูการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ แม้จะปรับตัวลดลง แต่ในภาพรวมยังเติบโต (ซึ่งหมายถึงการส่งออกสินค้าไปประเทศอื่นยังสูง) ดังนั้นไทยยิ่งต้องวางแผนเพื่อรับมือ รวมถึงการทำ Anti-dumping ที่ไม่ใช่แค่กับประเทศจีนเท่านั้น เพราะเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และ SME ที่มีการจ้างงานในประเทศอีกด้วย

    บทบาทของแบงก์ชาติ คือการทำนโยบายการเงินให้สอดคล้องไปกับมาตรการอื่นๆ ของภารครัฐ อย่างช่วงที่ผ่านมาที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อช่วยเรื่องการชะลอตัวต่างๆ ที่เกิดขึ้น (ปีนี้ลดอัตราดอกเบี้ยฯแล้ว 2 ครั้ง) แต่แน่นอนว่ากระสุนยังมีจำกัดจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ขณะเดียวกันการลดดอกเบี้ยจะส่งต่อไปที่เศรษฐกิจได้น้อยลงจะต่ำลง หากลดในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำลง (การปรับลดดอกเบี้ยฯ จากสูงลงมาจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า)

เศรษฐกิจไทยฟื้นแบบ V Shape ‘ขากว้าง’

    ที่ผ่านมา Potential growth rate ของไทยปัจจุบัน ธปท. ประเมินว่าอยู่ระดับต่ำกว่า 3% แต่จากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ทำให้ภาพรวมดูหนัก แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาครั้งนี้ดูหนักเป็นพิเศษเพราะมันสะสมมาตั้งแต่โควิด ปัญหาค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือนสูง SME เสี่ยงเจอสินค้านอกทะลักเข้ามา ท่องเที่ยวที่ดูฟื้นตัวแต่มาเจอนักท่องเที่ยวจีนที่ปรับลดลง

    อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้โอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะเป็นลักษณะตัววี (V) ที่ขากว้าง เพราะหลังจากเจอพายุครั้งนี้ แต่จะปรับลดลงแค่ไหน (ช่วงที่ 1) ขึ้นอยู่กับการเจรจาเรื่องอัตราภาษีฯ ทั้งกับฝั่งสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งและอาจสร้างไม่แน่นอนจนไปถ่วงการลงทุนต่างๆ ได้ และต้องติดตามการเจรจาการค้าของจีน Landscape ของการค้าโลกที่เปลี่ยนไปจะเป็นปัจจัยหลักว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวลงจะลึกแค่ไหน และกระทบอย่างไรในระยะข้างหน้า แต่น่าจะไม่ลึกเท่าพายุหรือ Shock ในครั้งก่อนๆ (เช่น วิกฤตการเงินโลกปี 2008 หรือ พ.ศ. 2551)

    แต่เมื่อผ่านจุดต่ำสุด (ช่วงที่ 2) มาถึงช่วงฟื้นตัว (ช่วงที่ 3) คงต้องใช้เวลาค่อนข้างยาวเมื่อเทียบกับ 2 ช่วงแรก เพราะเป็นเรื่องของการปรับตัว อย่างซัพพลายเชนใช้เวลาปรับเป็นปี หรือให้เวลามากน้อยจะต่างกันในแต่ละ Sector
มาถึงช่วงที่ 4 หลังจากฟื้นตัวถ้าเราไม่ปรับตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจไทยก็จะต่ำกว่าระดับที่เคยอยู่สมัยก่อน ทั้งจากการค้า เศรษฐกิจโลกโดยรวมและไทยชะลอตัวลง

    ดังนั้นสิ่งที่ไทยต้องทำคือในช่วงที่ 1 ทำอย่างไรให้ผลกระทบเบาบางลง และในช่วงการฟื้นตัวจะทำอย่างไรให้
ท่ามกลางพายุเหล่านี้ เศรษฐกิจไทยต่างผ่านปัญหามาได้หลายครั้งซึ่งท้ายสุดเราจะผ่านพ้นไปได้แต่แบบไหน แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่ว่าจะการลดผลกระทบในช่วงที่ 1 หรือช่วงการฟื้นตัวจะทำอย่างไรให้เอื้อต่อการหาโอกาสจากตลาดใหม่ๆ การปรับตัวสู่การเพิ่มมูลค่า หรือภาคบริการไทยได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ถ้าเราสามารถยกระดับประสิทธิภาพได้ โอกาสที่ไทยจะเติบโตกว่าในอดีตก็มีโอกาสสูงขึ้น


Entertainment complex ยังเสี่ยงถ้าเทียบกับโจทย์สังคมสูงวัย

    หากถามถึงภาคบริการ หลายคนอาจนึกถึงสิ่งที่ภาครัฐกำลังผลักดันอย่าง Entertainment complex โดยผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ได้ตอบคำถามนี้ว่า โจทย์ใหญ่ของไทยในการเพิ่มโอกาสการเติบโตไม่ใช่เพียงการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเท่านั้น แต่จะเพิ่มมูลค่าอย่างไร และมีอีกหลายมิติที่สามารถทำได้ เช่น การดูแลผู้สูงวัย ที่มีตลาดทั้งในไทยท่ีเข้าสู่สังคมสูงวัยและกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นการพัฒนาบริการให้ปรับตัวสู่ Wellness ดูมีความเป็นไปได้

    “ในแง่ของประโยชน์ Entertainment complex ยังไม่ชัดว่ามันตอบเรื่องการยกระดับของเรา จะ Value added ได้ขนาดนั้นหรือเปล่า แต่ก็มีอีกมิติที่เป็น Concern ของทางเรา (ธปท.) คือตอนนี้ที่โลกมีความไม่ชัดเจน ความไม่แน่นอนสูง" เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า "ในบริบทนั้นผมว่ามันยิ่งสำคัญใหญ่ที่จะทำตัวให้ถูกต้อง ขาวสะอาดเท่าที่ได้”

    ยิ่งในบริบทล่าสุดของเราตอนนี้ Moody’s เปลี่ยนไทยเป็น Negative Outlook (เชิงลบ) จากเดิมที่เป็น Stable (เสถียรภาพ) มาจากเรื่องคุณภาพของ Governance institution ที่เขาใช้คำว่า sound monetary and macro framework พูดง่ายๆ คืออะไรที่ถูกต้อง ทำตามกฎ ตอนนี้ยิ่งชัดในเรื่องเสถียรภาพและนับว่ามีความหมายมากขึ้น

    นอกจากนี้เรายังเห็นพาดหัวข่าวในสื่อใหญ่ทั่วโลก เรื่อง Scam ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางส่วนยังพาดพิงของไทย เพื่อนบ้าน ซึ่งในเรื่องของภาพลักษณ์มันสำคัญมาก แล้วมันมีความเสี่ยงถ้าเรื่องกาสิโน ไปทำให้ภาพของความเป็นเทาๆ มันมากขึ้นในช่วงเวลานี้ อาจเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง

    “ด้วยอายุของผมหรือเปล่า แต่ถ้าให้ผมเลือกระหว่าง Entertainment complex กับทำศูนย์ Wellness ที่เป็นเรื่องผู้สูงอายุ ที่ทำให้มันดี ผมว่าอันที่ 2 ประโยชน์ชัด Value added เยอะ ผลข้างเคียงน้อยกว่า” เศรษฐพุฒิกล่าว



ภาพ: BOT



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 
เจาะสาเหตุแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ย เผยสมมติฐานถ้าไทยเจอภาษี 10% GDP ปี 68 เหลือ 2%
ทำไม Moody’s ปรับลดแนวโน้มเครดิตประเทศไทยเป็น ‘เชิงลบ’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine