Black Monday ตลาดหุ้นดิ่งลงทั่วโลก ย้อนรอยต้นเหตุเมื่อ 37 ปีก่อนสู่ '5 ส.ค. 67' ครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ - Forbes Thailand

Black Monday ตลาดหุ้นดิ่งลงทั่วโลก ย้อนรอยต้นเหตุเมื่อ 37 ปีก่อนสู่ '5 ส.ค. 67' ครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์

5 ส.ค. 2567 กลายเป็นอีกวันที่จารึกบนหน้าประวัติศาสตร์ในชื่อว่า Black Monday ครั้งที่ 2 ซึ่งตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะตลาดหุ้นญี่ปุ่นหรือ Nikkei 225 ปรับตัวลดลงกว่า 12.4% ขณะที่ตลาดหุ้นทั้งในเกาหลีใต้ ไต้หวัน เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ฝั่งสหรัฐ รวมถึงตลาดหุ้นไทยดิ่งลงต่ำกว่า 1,300 จุดไปแล้ว (SET Index ปิดอยู่ที่ 1,274.67 ลดลง 2.93%)


    ในครั้งนี้ Black Monday หรือ วันจันทร์ทมิฬ ที่เกิดจากนักลงทุนเทขายหุ้นอย่างหนัก และเกิดขึ้นทั่วโลก สาเหตุเพราะตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะถดถอย เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่าง การจ้างงานฯ อัตราการว่างงาน ออกมาไม่ดีนัก

    แล้ว Black Monday ครั้งแรกแตกต่างจากครั้งนี้หรือไม่?


ย้อนรอย ‘Black Monday’ ครั้งแรกในปี 2530

    เมื่อตลาดหุ้นทั่วโลกมีความเชื่อมโยงกัน ทำให้เกิดความผันผวนที่มากขึ้นตามด้วย หากย้อนกลับไปในวันที่ 19 ต.ค. ปี 2530 ที่เกิด Black Monday ครั้งแรกในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ตลาดหุ้น Dow Jones ติดลบ 22.6% ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เหตุผลไว้ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดพลาดของระบบ Algorithm Trading ที่ทำการประมวลผลการซื้อขายผิดพลาด ส่งผลให้ราคาหุ้นทั่วโลกตกต่ำลงอย่างรุนแรง

    ขณะที่ Finomena มองว่าเป็นการ Panic Sell ครั้งใหญ่ที่เกิดจาก 3 สาเหตุหลัก คือ 

1) Dow Jones ณ ขระนั้นปรับตัวสูงขึ้นเร็วในช่วง 3 เดือน อาจเห็นการปรับฐานบ้าง 

2) อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ (CPI) ปรับตัวขึ้นมากกว่า 4% ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นสัญญาณการเร่งตัวของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไปแต่ตลาดยังมองว่าภาวะกระทิงจะไปต่อ 

3) สาเหตุของเงินเฟ้อ มาจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น 107% จากระดับ 10.80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในเดือน มี.ค. ปี 2530 ไปสู่ $22.40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือน ส.ค. 2530 จากภาพนี้ย่อมรู้ว่าเป็น Bubble แต่คนในตลาดตอนนั้นกลับมองแง่ดีเกินไป

    แน่นอนว่าจากผลกระทบของ Black Monday ครั้งแรก ทำให้ SET Index ของไทยเจอผลกระทบหนักเช่นกัน จากสิ้นวันที่ 19 ต.ค. 2530 ที่ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 459.01 จนสิ้นปีนั้นลงมาอยู่ที่ 284.94 จุด ลดลงถึงกว่า 38% ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมมือกันต่อเนื่อง เช่น ออกมาสื่อสารให้มากขึ้น ขยายวงเงินสำหรับลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เพิ่มจากไม่เกิน 60% เป็น 100% ของเงินกองทุน ฯลฯ

    ในช่วงที่เกิดวิกฤต ฝั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการแถลงเพื่ออธิบายสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดย ดร. มารวย ผดุงสิทธิ์ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะมาอัพเดทภาวะให้ฟังรายวัน บางครั้งมีเหตุการณ์รุนแรงอาจเพิ่มเป็นวันละ 2 ครั้ง

    ทั้งนี้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่าหลังจากทยอยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจนผลกระทบจากเหตุการณ์ Black Monday ผ่านพ้นไป ในปีถัดมา 2531 ช่วง 6 เดือนแรก มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ในเกณฑ์สูงสุดในรอบ 13 ปี ที่ 156,649.36 ล้านบาท แต่ยังชะลอตัวลงในช่วงปลายปี

‘Mini Black Monday’ และผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในปี 2532

    แม้เหตุการณ์ครั้งแรกจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ด้วยความที่ตลาดทุนทั่วโลกยังเชื่อมโยงกันและมีความผันผวนเกิดขึ้น จึงเกิด ‘Mini Black Monday’ ขึ้นกับตลาดหุ้นไทยในวันที่ 16 ต.ค. 2532 จุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์เทขายหุ้นในตลาดต่างประเทศวันศุกร์ 13 เดือน ต.ค. ปี 2532 แต่ความรุนแรงน้อยกว่าเพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกที่แตกต่างกัน

    ในมุมมองของตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากภาวะตื่นตระหนกมากกว่ามาจากปัจจัยพื้นฐาน ทำให้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ของไทยจึงเร่งชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจและการซื้อขายก็กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

    จากปี 2530 กว่าๆ มาจนถึงปัจจุบันยังมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละครั้งจึงสร้างบทเรียน การพัฒนาและวิธีการรับมือต่อสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป



ภาพ: midjourney



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : บ้าน-คอนโดต่ำ 3 ล้านใน กทม. - ปริมณฑล น่าห่วง! ภาระค่าใช้จ่าย-หนี้ครัวเรือน กดดันกำลังซื้อ ยอดปฏิเสธสินเชื่อยังสูง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine