บี.กริม แอลเอ็นจี ประเดิมรายแรกนำเข้า LNG 65,000 ตัน รุกขายให้โรงไฟฟ้าเครือ บี.กริม - Forbes Thailand

บี.กริม แอลเอ็นจี ประเดิมรายแรกนำเข้า LNG 65,000 ตัน รุกขายให้โรงไฟฟ้าเครือ บี.กริม

บมจ. บี.กริม แอลเอ็นจี บริษัทย่อยของบี.กริม เพาเวอร์ เปิดเผยว่าเป็นเอกชนรายแรกของไทยที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ทางเรือลำแรก เมื่อ 25 ส.ค. 2567 ซึ่งจะจำหน่ายต่อให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) พร้อมคงเป้าหมายปี 2573 มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเกิน 50% (จากปัจจุบันที่ 25%)


    ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บมจ. บี.กริม แอลเอ็นจี หรือ BGLNG (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 100%) ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อปี 2563 โดยปริมาณนำเข้า LNG ที่ไม่เกิน 1.20 ล้านตัน/ปี สำหรับค้าส่งไปยังโรงไฟฟ้าในเครือของ บี.กริม เพาเวอร์ รวม 19 แห่ง โดยระยะแรก BGLNG ตั้งเป้าจำหน่ายก๊าซฯ ให้แก่โรงไฟฟ้าที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น และร่วมทุน เพื่อผลิตไฟฟ้าจำหน่ายแก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม

    ทั้งนี้ เที่ยวเรือ LNG ลำแรก BGLNG ได้จัดซื้อจากบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ปริมาณนำเข้าประมาณ 65,000 ตัน โดยส่งมอบและจัดเก็บรวมถึงแปรสภาพก๊าซฯ ที่สถานี LNG มาบตาพุด แห่งที่ 1 (LMPT1) ของ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) และจัดส่งก๊าซฯ ผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงไฟฟ้าที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น ทั้งบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุน รวม 10 แห่ง

    ในระยะถัดไป BGLNG มีแผนขยายการจำหน่าย LNG ไปยังโรงไฟฟ้าที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น และโรงไฟฟ้าอื่นๆ รวมถึงกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการเปิดแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติตามนโยบายภาครัฐ โดยมั่นใจว่าจากการเปิดเสรีตลาดพลังงานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการก๊าซธรรมชาติรายใหม่มีการแข่งขันทางด้านราคามากขึ้น ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนภาคพลังงานในประเทศไทยให้เพิ่มยิ่งขึ้นเช่นกัน

    “การจัดหา LNG จาก BGLNG จะช่วยให้โครงการโรงไฟฟ้าภายใต้ บี.กริม เพาเวอร์ มีทางเลือกในการซื้อก๊าซธรรมชาติในกลไกราคาที่ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน โดยระยะยาวถือเป็นการลดต้นทุนพลังงาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์โดยรวมของเศรษฐกิจไทย” ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว

    ทั้งนี้ บี.กริม ยังมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 25% โดยมีเป้าหมายระยะยาว ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลกและบรรลุเป้าหมาย องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593)

ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (กลาง)

    แอนดรูว์ เคิร์ก รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจ LNG และเชื้อเพลิงยั่งยืน บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด (BGLNG) กล่าวว่า ในอนาคต บริษัทมีแผนขยายธุรกิจ LNG และก๊าซธรรมชาติแก่ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายอื่นๆ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพลังงานของประเทศ ผ่านการพัฒนาโครงการต่างๆ เช่น การให้บริการขนส่ง LNG ทางรถบรรทุก หรือทางเรือ เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าและสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

    อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงการนี้โรงไฟฟ้าที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น ทั้งบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุน รวม 10 แห่ง ได้แก่

    1. บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 จำกัด

    2. บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 2 จำกัด

    3. บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 3 จำกัด

    4. บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 4 จำกัด

    5. บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 5 จำกัด

    6. บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 จำกัด

    7. บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ดับบลิวเอชเอ) 1 จำกัด

    8. บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 1 จำกัด

    9. บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 2 จำกัด

    10. บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 3 จำกัด



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : บีโอไอไฟเขียว “เวสเทิร์น ดิจิตอล” ลงทุนเพิ่มกว่า 23,000 ล้านบาท ขยายฐานผลิตฮาร์ดดิสก์ครั้งใหญ่ รองรับคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine